posttoday

กระเทียมจีนทะลักโลก

15 มีนาคม 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา  การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

จีนผลิตอะไรก็สะเทือนไปทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรม “กระเทียม” ก็เช่นกัน กระเทียมจีนกำลังท่วมโลกและกลายเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ หาวิธีการปกป้องเกษตรกรของตนเอง ปี 2559 กระเทียมจีนผลิต 22 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณผลิตกระเทียมมากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 80 ของผลผลิตโลก (26.5 ล้านตัน ปี 2568 คาดว่าโลกผลิตอยู่ที่ 31 ล้านตัน) โดยจีนผลิตใน 5 มณฑลหลักคือ ซานตง (Shandong) ผลิต 2.2 ล้านตัน เหอหนาน (Henan) 1.3 ล้านตัน เจียงซู (Jiangsu) 0.8
ล้านตัน ยูนนาน (Yunnan) 0.5 ล้านตัน และเหอเป่ย์ (Hebei) 0.3 ล้านตัน

ในแต่ละมณฑลจะมีพันธุ์กระเทียมเป็นของตนเอง เช่น ในมณฑลซานตงจะเป็นกระเทียมชางชาน (Changshan) และกระเทียมไทชาง (Taichang) ในมณฑลเจียงซู เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกระเทียมหัวใหญ่ ในปี 2558 จีนได้ตั้ง “ตลาดซื้อขายกระเทียมโลก” ชื่อว่า “Shandong Jinxiang Garlic International Trading Market” ที่เมืองจินเซียง (Jinxiang) ในมณฑลซานตง มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเป็นตลาดซื้อขายกระเทียมของโลกมีทั้งคลังสินค้าและศูนย์โลจิสติกส์ ในพื้นที่ 2,700 ไร่ มีการซื้อขายกระเทียมปีละ 2 ล้านตัน

จีนส่งออกกระเทียมเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2561 จีนส่งออกกระเทียมมากสุด 1.8 ล้านตัน เพิ่มจาก 1.4 ล้านตันในปี 2550 ตลาดหลักคือ อาเซียน ยุโรป และแอฟริกา ในอาเซียน มีอินโดนีเซียเป็นรายใหญ่ที่นำเข้ากระเทียมจีนมากสุด ซึ่งเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 3 แสนตัน เป็น 5 แสนตัน แต่อินโดนีเซียผลิตกระเทียมได้เพียง 2 หมื่นตัน ตามด้วยเวียดนาม (2 แสนตัน) มาเลเซีย (1.5 แสนตัน) และฟิลิปปินส์ (8 หมื่นตัน)

กระเทียมได้สร้างความกังวลแก่ประเทศผู้ผลิตกระเทียมทั่วโลก เช่น กระเทียมในยุโรป ที่มีผู้ผลิตกระเทียมรายใหญ่ คือ สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮังการีและโรมาเนีย นโยบายการปกป้องการนำเข้าของยุโรปจึงมีการเก็บภาษี 9.6% และเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี กระเทียมจีนจึงส่งออกไปยังทางเรือที่นอร์เวย์ ซึ่งนอร์เวย์ไม่ได้เป็นสมาชิกยุโรปทำให้ไม่ต้องเสียภาษี หลังจากนั้นก็กระจายไปยังประเทศยุโรปอื่นๆ ในขณะที่สหรัฐนำเข้ากระเทียมจากจีนมาร้อยละ 50 ของการนำเข้าทั้งหมด ราคากระเทียมจีนอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 42 บาท ในขณะที่กระเทียมสหรัฐ 70 บาท/กก. ประเด็นนี้กลายเป็น “Garlic War” ระหว่างจีนกับสหรัฐ

ในขณะที่อินโดนีเซียส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกระเทียมให้เพิ่มขึ้นอีก 6 แสนไร่ เพราะมีความต้องการใช้ปีละ 5 แสนตัน แต่ผลิตได้ 2 หมื่นตัน ที่เหลือนำเข้า รัฐบาลจึงจูงใจให้เกษตรกรได้รับราคาประกันที่ 85 บาท/กก. (3.8 หมื่นรูเปียห์/กก.) หันมาดูกระเทียมไทยบ้าง ปัจจุบันไทยผลผลิตกระเทียม 7 หมื่นตัน และมีพื้นที่ปลูกปีละ 7 หมื่นไร่ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ปลูกในภาคเหนือ ส่วนใหญ่มาจากเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ศักยภาพการผลิตกระเทียมไทยได้ไร่ละ 1 ตัน ในขณะที่จีนผลิตได้ 4 ตัน/ไร่ (สูงที่สุดในโลก) และต้นทุนการผลิตกระเทียมสดไทย 11 บาท/กก. และต้นทุนกระเทียมแห้ง 35 บาท/กก. ในขณะที่ต้นทุนกระเทียมสดจีน 5 บาท/กก. และแห้ง 15 บาท/กก. (ปี 2561) ราคากระเทียมแห้งเกษตรกรไทยขายได้ที่ 20 บาท/กก. ราคากระเทียมจีนหัวเล็กที่นำเข้ามาขายในไทยราคาอยู่ที่ 20-22 บาท/กก. (กระเทียมไทย 35 บาท/กก.)

ขณะที่ราคาเกษตรกรจีนที่ขายกระเทียมสดในตลาดจีนอยู่กิโลกรัมละ 14 บาท (432 ดอลลาร์/ตัน) ปัจจุบันมีครัวเรือนเกษตรกรไทยปลูกกระเทียม 2.5 หมื่นครัวเรือน กระเทียมจีนที่ไทยนำเข้ามา 100% มาจากประเทศจีน ประเด็นของกระเทียมไทยที่ต้องเร่งแก้ไขคือ 1.มีการลักลอบนำเข้ากระเทียมหัวใหญ่มาจากประเทศจีน ตัวเลขนำเข้าทางการ 7 หมื่นตัน บวกกับลักลอบอีกมากกว่า 3 แสนตัน (สวัสดิ์ คำออน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่) เมื่อนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมาก ราคาถูกๆ เข้ามาขายแข่งกับกระเทียมหัวเล็กของไทย ราคากระเทียมไทยจึงตกต่ำ 2.ปัจจุบันไทยเก็บภาษีกระเทียมนำเข้าภายในกรอบโควตาตามองค์การการค้าโลก หรือดับเบิ้ลยูทีโอ 60-70 ตัน/ปี เสียภาษีประมาณ 27% ที่เหลือเป็นการนำเข้านอกกรอบ ที่เสียภาษี 57% แม้ว่าภาษี 57% แต่ราคาขายกระเทียมจีนก็ยังถูกกว่ากระเทียมไทย

เราควรมีการทบทวนมาตรการการนำเข้าเหมือนข้าวญี่ปุ่นที่มีการเก็บอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 777 เปอร์เซ็นต์ และกำหนดให้มีโควตาการนำเข้าได้ปีละไม่เกิน 6.8 แสนตัน ในขณะที่ข้าวจีนภายในโควตาเก็บภาษี 1% รวม VAT อีก 13% ถ้าเกินโควตาเก็บภาษีตามประเภทข้าว 10-65% 3.กระเทียมไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ากระเทียมจากประเทศจีน ทำให้กระเทียมไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องราคาได้ ผมมีโอกาสได้คุยกับ “กลุ่มเกษตรกร ผู้ปลูกกระเทียม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน” ที่มีเกษตรกรหลายหมื่นครัวเรือน ต้องการให้ออกมาตรการชะลอการนำเข้ากระเทียมต่างประเทศในช่วงเดือน พ.ค.-พ.ย.ของทุกๆ ปี ที่มีการนำเข้ามาก เพื่อให้กระเทียมไทยสามารถทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนดังกล่าว โดยไม่จำเป็นต้องนำเงินเข้ามาแทรกแซงโดยการซื้อกระเทียมในแต่ละปี