posttoday

วิกฤตข้าวไทย ในอิหร่าน

01 มีนาคม 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความนี้เป็นเนื้อหาต่อเนื่องจากการเดินทางไปกับท่านวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่เดินทางไปเก็บข้อมูลข้าวที่สมาคมผู้นำเข้า ข้าวอิหร่าน (Iranian Rice Importers Association) ณ สาธารณรัฐ อิสลามอิหร่าน (Islamic Republic Of Iran) ระหว่างวันที่ 18-23 ก.พ. 2562 ข้อมูลปี 2550 ถึงปี 2561 พบว่าสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยไปยัง 15 ประเทศตะวันออกกลาง "อาการน่าเป็นห่วง" และประเทศไทยคงมี "โจทย์ต้องแก้ไขอีกเยอะ หากยังต้องการส่งออกข้าวไปขาย" ไทยส่งออกข้าวไปอิหร่านลดลงจาก 1.3 ล้านตัน เหลือ 5 แสนตัน หายไป 8 แสนตันครับ

ประเทศที่ไทยส่งออกลดลงหลักๆ คือ ซาอุดิอาระเบีย อิรัก จอร์แดน บาห์เรน และอิหร่าน (ประเทศที่ไทยส่งออกลดลงมากที่สุด จาก 6 แสนตัน เหลือ 9,000 ตัน) ประเทศไทยต้องหาคำตอบกันต่อไปว่า "ทำไมถึงลดลง" บทความนี้จะนำเสนอสถานการณ์การนำเข้าข้าวของอิหร่านและทางออกสำหรับข้าวไทยในอิหร่าน

จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเตหะราน พบว่าอิหร่านมีพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคเหนือ โดยจังหวัดที่มีการปลูกข้าวมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดกีลอน (Gilan) และจังหวัดมอซันดะรอน (Mazandaran) คิดเป็นร้อยละ 80 ของการผลิตข้าว ทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ จังหวัดกุลิสตอน (Golestan) อิสฟาฮาน (Isfahan) และคุรอซาน (Khorasan) อิหร่านผลิตข้าวปีละ 2.3 ล้านตัน แต่มีความต้องการปีละ 3.2 ล้านตัน นั้นคือต้องนำเข้าข้าวปีละ 1 ล้านตัน เมล็ดข้าวของอิหร่านเหมือนเป็นการผสมพันธุ์ระหว่าง "ข้าวบาสมาติกับ ข้าวหอมมะลิ" คือข้าวมีเมล็ดยาว เกาะติดตัวกันและมีกลิ่นหอมพอสมควร ไม่ร่วนมากเหมือนข้าวบาสมาติ

อย่างไรก็ตาม ผลผลิตข้าวอิหร่านลดลงมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะเจอภาวะภัยแล้ง พันธุ์ข้าวอิหร่านมีหลากหลายพันธุ์ทั้งเมล็ดยาว สั้น หอมและไม่หอม การที่อิหร่านผลิตข้าวได้ลดลงและเพื่อให้มีข้าวเพียงพอ รวมถึงลดการพึ่งพิงการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีอิหร่านชุดปัจจุบันจึงมีมติเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2561 ได้อนุมัติโครงการเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) โดยส่งเสริมการลงทุนปลูกพืชเกษตรของอิหร่านในต่างประเทศ

ปัจจุบันมีบริษัทอิหร่านลงทุนปลูกข้าวในแอฟริกาหลายประเทศ อิหร่านนำเข้าข้าวจากอินเดีย ปากีสถานและไทยเป็นหลัก แม้ว่าผลผลิตข้าวในประเทศที่ลดลงก็ตาม ใช่ว่าอิหร่านจะอนุญาตให้ข้าวต่างชาติเข้ามาขายได้อย่างอิสรเสรี ทางกลับกันอิหร่านเน้นคุณภาพข้าวที่นำเข้ามาขายอย่างมาก เห็นได้จากหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพอิหร่านพบว่าข้าวที่เข้ามาขายในอิหร่านในระยะหลายปีที่ผ่านมาไม่มีคุณภาพ โดยเฉพาะข้าวจากประเทศไทย อิหร่านตรวจพบว่ามีสารปลอมปนและข้าวปลอมแปลงในปี 2557 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขและ FDA ของอิหร่าน ได้ออกระเบียบมาตรฐานการนำเข้าข้าวเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2557 (New standards for rice quality and hygiene criteria for rice import into Iran since 21st March, 2014) ว่าข้าวที่จะเข้ามาขายในอิหร่าน ต้องมีเอกสารสำคัญ 4 อย่างคือใบรับรองสุขภาพ (Health Certificate) ที่ต้องบอกว่าข้าวมาจากแหล่ง ผลิตใด บรรจุภัณฑ์แบบไหน และต้องมีมาตรฐาน (GMP) ใบรับรองการปลอดจีเอ็มโอ (GMO Certificate) ซึ่งรับรองโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศส่งออก ใบรับรองปลอดสารตกค้าง (Residual Certificate) และใบรับรองการปลอดสารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxin Certificate) ซึ่งได้จากผลทดสอบจากห้องแล็บ (Lab Test)

หากดูตัวเลขระหว่างปี 2560 กับ 2561 ผลของการออกระเบียบการ นำเข้าข้าวดังกล่าว ทำให้ไทยส่งออกข้าวไปอิหร่านลดลงทันที แต่หากดูข้อมูลย้อนหลัง ไทยส่งข้าวไปขายอิหร่านลดลงต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว ปี 2560 อิหร่านมีประชากร 81 ล้านคน (World Bank) ประชากร 60 ล้านคน บริโภคข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีก 20 ล้านคน บริโภคข้าว ที่ผลิตในประเทศ ใน 5 ปีข้างหน้า อิหร่านมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้นปีละ 2% นั้นหมายความว่าเพิ่มขึ้นปีละ 5 หมื่น-7 หมื่นตัน

ผลจากการพูดคุยกับสมาคมผู้นำเข้าข้าวอิหร่าน แนะนำ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ไทยควรหาสถาบันการเงินที่สามารถโอนเงินกันได้ เนื่องจากอิหร่านอยู่ภายใต้การแซงชั่นจากสหรัฐ ผมคิดว่าน่าจะผ่านทางสถาบัน การเงินของจีน อินเดียหรือยุโรป (ผ่านทาง Special Purpose Vehicle) 2.อิหร่านต้องการข้าวที่มีคุณภาพไทย แต่ปัจจุบันข้าวไทยที่ส่งไปขายในอิหร่าน กำลังทำลายชื่อเสียงข้าวของประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เพราะเอกสารที่ส่งไปจากไทยกับอิหร่านไม่ตรงกัน และแม้ว่าจะมีการทำ MOU ระหว่างประเทศไทยกับสมาคมนำเข้าข้าวของอิหร่านเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ MOU นั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดการซื้อขายข้าวกันจริง

สิ่งที่ประเทศไทยต้องรีบทำอย่างเร่งด่วน (หากต้องการรักษาตลาดข้าวในอิหร่าน เหมือนที่อินเดียดำเนินการแล้วผ่านทาง Agricultural and Processed Food Products Exports Development Authority : APEDA สังกัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมอินเดีย) คือสิ่งที่สมาคมผู้นำเข้าของอิหร่านแสดงออกมาชัดเจน ซึ่งหากทำได้ความต้องการข้าวไทยจะ เพิ่มขึ้นอีก 20% แต่ในทางกลับกันหากประเทศไทยไม่รีบดำเนินการ "วิกฤตข้าวไทยรออยู่ข้างหน้าแน่นอน" ครับ