posttoday

งาน Gulfood

22 กุมภาพันธ์ 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมเขียนบทความนี้ที่โรงแรม DusitD2 Kenz Hotel นครดูไบ เพราะระหว่างวันที่ 18-23 ก.พ. 2562 ผมต้องเดินทางไปกับกรมการค้าภายในเพื่อไปยังนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และอิหร่าน นำโดย นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ที่ดูไบเรามีภารกิจคือ การเข้าชมงานแสดงสินค้า "Gulfood" มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็บข้อมูลบริษัทเกษตรแปรรูปเพื่อหาช่องทางและโอกาสในการประสานติดต่อกับบริษัทอาหารทั่วโลก จะได้นำมาบอกกับบริษัทแปรรูปสินค้าเกษตรของไทย เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดต่อไป

นอกจากนี้ ยังเดินทางไปเก็บข้อมูลข้าวที่ประเทศอิหร่าน บทความนี้จึงขอนำเสนองาน Gulfood ก่อนนะครับ ส่วนการสำรวจตลาดข้าวค่อยนำเสนอในบทความถัดๆ ไป งาน Gulfood เป็นงานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก (เริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 1987) คำว่าใหญ่ที่สุดในโลกเนี่ย ผมก็จินตนาการไม่ถูกว่าใหญ่แค่ไหน ผมเลยเอาไปเปรียบเทียบกับงาน "Thaifex" ของไทย ซึ่งเป็นงานแสดงอาหารระดับโลกเช่นกัน งาน Thaifex มีผู้ผลิตและส่งออกเข้าร่วม 2,537 ราย จาก 41 ประเทศทั่วโลก ในพื้นที่ 1 แสนตารางเมตร (ตร.ม.) มีเงินสะพัดมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ในแต่ละปี

ในขณะที่งาน Gulfood จัดที่ Dubai World Trade Center ปีนี้จัดระหว่างวันที่ 17-21 ก.พ. 2562 ณ เมืองดูไบ เมื่อปีที่ผ่านมา งาน Gulfood มีคนเข้าชม 9.8 หมื่นคน มีบริษัททั่วโลกเข้าร่วม 5,000 บริษัท จาก 193 ประเทศ มี 120 บูธของแต่ละประเทศ ในพื้นที่มากกว่า 1 ล้านตารางฟุต หรือเท่ากับ 1.2 แสน ตร.ม. ปีนี้คนมาร่วมงานถึง 1 แสนคนแน่นอน

กลุ่มสินค้าที่เน้นแยกเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม นม เนยน้ำมัน อาหารสุขภาพ เนื้อและเนื้อสัตว์ปีก อาหารผง และขนมปัง ประเทศในอาเซียนไม่นำสินค้ามาแสดงคือ เมียนมา สปป.ลาว บรูไน และกัมพูชา ในบรรดา 6 ประเทศที่เข้าร่วม ไทยมีพื้นที่แสดงสินค้ามากสุดตามด้วยสิงคโปร์ สินค้าของไทยจะส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป

ผมพบว่าสินค้าไทยวันนี้มีการสีสันและผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้น เช่น ทุเรียนกรอบผสมเห็ด และน้ำมะพร้าวผสมทุเรียน เป็นต้น สำหรับสินค้ามาเลเซียส่วนใหญ่เป็นกลุ่มขนมปัง สินค้าอินโดนีเซียไม่หลากหลาย และกล่องบรรจุภัณฑ์ยังมีสีสันน้อย เมื่อเทียบกับอาเซียนอื่นๆ  เวียดนามมีสินค้าข้าวหอมมะลิ (ปกติเวียดนามไม่มี) เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ชา สมุนไพรและผลไม้แช่แข็ง ที่แตกต่างกันสินค้าประเทศอื่น ในขณะที่สิงคโปร์ไม่มีผลไม้แปรรูปเลย

เมืองดูไบจัดงานใหญ่ๆ แบบนี้ ผมคิดว่ามี 3 เหตุผล คือ 1.ต้องการให้ผู้ชื้อและผู้ขายทั่วโลกมาเจอกัน และที่สำคัญคือ 2.ต้องการประกาศว่าดูไบคือ "ศูนย์กลางเศรษฐกิจของตะวันออกกลาง" และ "ศูนย์กลางการขนส่ง" หรือผลักดันให้ดูไบ "สิงคโปร์แห่งตะวันออกกลาง" UAE เพราะว่า UAE เป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 2 (40,162 ดอลลาร์สหรัฐ) รองจากประเทศกาตาร์ (64,446 ดอลลาร์) สินค้าที่นำเข้ามา UAE ก็ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) ประกอบด้วย สมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน และสุดท้ายก็เพื่อ UAE ได้มีโอกาสเห็นสินค้าจากหลากแหล่งทั่วโลก เพราะ UAE นำเข้าสินค้าทุกประเภทร้อยละ 80 ดูไบนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศ

ปีนี้มีบริษัทไทยเข้าร่วม 131 บริษัท คนทั่วไปต้องเสียค่าเข้างานคนละ 270 AED (United Arab Emirates Dirham) อัตราแลกเปลี่ยน 1 เดอร์แฮม (Dirham) เท่ากับ 8.70 บาท (ณ วันที่ 6 ม.ค. 2562) บูธไทยใช้สโลแกนว่า "Kitchen of the World" ผมแนะนำสำหรับบริษัทไทยที่ต้องการออกบูธในปีหน้า ควรติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าไปกับบริษัทจัดงานเอง หรืออาจจะติดต่อไปเอง พื้นที่เราสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือไปร่วมกับหน่วยงานราชการและติดต่อพื้นที่ไปเอง

บริษัทไทยที่ร่วมงาน Gulfood ผมว่าเป็นโอกาสที่สำคัญมากๆ ที่จะได้รู้จักกับกลุ่มบริษัทในกลุ่มเดียวกัน และที่สำคัญคือรู้จักผู้นำเข้าสินค้า จากทั่วโลกที่มาเดินในงาน ผมพอจะแยกสินค้าไทยที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ โดย ร้อยละ 80 เป็นสินค้าอาหารสำเร็จรูป ที่เหลือเป็นกลุ่มอาหารธัญพืช เช่น ขนมปังและซีเรียล และเครื่องดื่ม