posttoday

ส่งออกไทยกับอาเซียน

15 กุมภาพันธ์ 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2562 ผมได้นำเสนอบทวิเคราะห์ "การส่งออกไทยภายใต้ความผันผวนเศรษฐกิจโลก" ซึ่งผมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 15 ปีแล้ว (ศูนย์ฯ ผมน่าจะเป็นหน่วยงานแรกของไทย ที่นำประเด็นส่งออกมาวิเคราะห์เฉพาะเจาะจง)

ขอเริ่มจากทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2562 ก่อนครับ ผมต้องพาดหัวข่าวตามสไตล์ผมแบบนี้ว่า "ปี 2562 ส่งออกไทยโตต่ำสุดในรอบ 3 ปี" โดยปีนี้มีอัตราการขยายตัวการส่งออกของไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 4.4% คาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่าง 3.2 ถึง 4.6% ปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย 6 ปัจจัยหลักๆ คือ เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน สงครามการค้า การทำ FTA เวียดนามกับยุโรป และ Brexit (มองแง่ดีว่าจะตกลงกันได้ดี)

ปีนี้ GDP โลกขยายตัวต่ำกว่า 3.7% โดยทุกประเทศทั่วโลกจะอัตราขยายตัว GDP ลดลง เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงอัตราการขยายตัวมูลค่าการส่งออกของไทยกับอาเซียน (สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม) ระหว่างปี 2561 กับปี 2562 พบว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศอาเซียนที่มีการเปลี่ยนแปลงการส่งออกลดลงต่ำสุด แต่เป็นเวียดนามกับสิงคโปร์ที่มีอัตราขยายตัวการส่งออกลดลงมากสุด โดยเวียดนามลดลง 5.8% สิงคโปร์ลดลง 3.3%

เหตุผลหลักที่เวียดนามและสิงคโปร์กระทบมากกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ เพราะ 2 ประเทศนี้พึ่งพิงการส่งออกสูงกว่ามากกว่าอาเซียนอื่นมาก คือ สัดส่วนส่งออกต่อ GDP ของสิงคโปร์เป็น 173% ในขณะที่เวียดนามมีสัดส่วน 94% และไทยอยู่ที่  69% การพึ่งพิงการส่งออกไทยไปยังคงผูกติดกับตลาดหลัก 5 ประเทศคือ สหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอาเซียน (คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการส่งออกรวม) และที่น่าสนใจเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกของอาเซียน พบว่า ประเทศไทย มาเลเซีย และกัมพูชา เป็น 3 ประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณการส่งออกติดลบ (ระหว่างปี 2561 กับปี 2562)

นอกจากนี้ ไทยยังเป็น 1 ใน 4 ประเทศอาเซียนที่อัตราการขยายตัวปริมาณการส่งออกโตน้อยสุด (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) สิ่งที่อยากให้ติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ประเด็นการเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีน ว่า ในวันที่ 1 มี.ค. 2562 จะจบลงอย่างไร เพราะจะกระทบทั้งเศรษฐกิจของจีน สหรัฐ และอาเซียนโดยตรง หากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ จากรายงานของ IMF, World Economic Outlook พบว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2019-2023) ในปี 2019 จะเป็นปีที่ GDP ของสหรัฐและจีนลดลงมากที่สุด

ทั้งนี้ เหตุผลส่วนตัวว่าถ้าจะเกิดได้คงเป็นสถานการณ์ที่สหรัฐและจีนตกลงกันไม่ได้ในวันที่  1 มี.ค. 2562 สอดคล้องกับงานวิจัยของ "The Washington-based consultancy Trade Partnership Worldwide" ที่ลงในหนังสือพิมพ์ South China Morning Post เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ก.พ. 2562 ว่า คนสหรัฐจะมีความเสี่ยงในการตกงานสูงถึง 2 ล้านคน หลังจากนั้น ผลกระทบต่อ GDP ของทั้งสองประเทศจะค่อยๆ ลดลง

ประเด็นต่อไปที่ผมต้องการนำเสนอเป็นผลต่อเนื่องจากสงครามการค้าที่เศรษฐกิจจีนลดลง ผมคำนวณว่า หากเศรษฐกิจจีนลดลง 1% กลุ่มสินค้าไทยที่ส่งไปจีนจะได้รับผลกระทบหนัก (มากกว่า 1%) คือ ยางและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วน ผลไม้สด ไม้และผลิตภัณฑ์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ในขณะที่หาก GDP ของสหรัฐลดลง 1% จะกระทบต่อสินค้าไทยหนัก (มากกว่า 1%) คือ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ยางและผลิตภัณฑ์ รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน และคอมพิวเตอร์ ผลกระทบการลดลงของ GDP ของจีนและสหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่า สินค้าของไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตของจีนมากกว่าสหรัฐ เพราะมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนลดลงน้อยกว่าที่ส่งออกไปสหรัฐ

ประเด็นต่อไปที่น่าสนใจ เป็นการแข็งค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ที่ปีนี้ที่ทิศทางแข็งกว่าปี 2561 โดยปี 2561 เงินบาทของไทยแข็งเป็นอันดับสองรองจากมาเลเซีย แต่ในเดือน ม.ค. 2562 เงินมากแข็งมากที่สุดในเอเชีย ตามด้วยอินโดนีเซีย แต่ในเดือน ก.พ. เงินบาทกลับแข็งเป็นอันดับที่สองของเอเชีย ตามหลังอินโดนีเซีย หากปี 2562 เงินบาทอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ จะส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลงไป 0.4% เงินหายไปเกือบสี่หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ยังมีประเด็นราคาน้ำมันที่มีโอกาสที่จะเพิ่มและลดลงจากระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล ผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐคว่ำบาตรเศรษฐกิจประเทศเวเนซุเอลากับอิหร่าน และยังรวมประเด็น FTA ของเวียดนามที่ทำกับยุโรปอีกด้วยครับ