posttoday

น้ำมะม่วง CLMVT สู่ตลาดโลก

25 มกราคม 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ปี 2562 เป็นอีกหนึ่งปีที่ผมมีโอกาสได้ทำโครงการวิจัยเกี่ยวกับกลุ่มประเทศ CLMVT ซึ่งสนับสนุนเงินทุนโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าสินค้าอุตสาหกรรม 4.0 จาก CLMVT สู่สากล"

โครงการนี้ต่างกับโครงการอื่นๆ ที่ผมเคยทำวิจัยมา เพราะว่าต้องให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มประเทศ CLMVT ร่วมกัน ซึ่งในปีที่แล้วผมได้ทำสองผลิตภัณฑ์สองแผ่นดิน คือ "น้ำมะม่วงกับน้ำมันนวด" วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ เพื่อหาแนวทางส่งเสริมตลาดให้กับสินค้าศักยภาพของกลุ่มจังหวัดของไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปสู่สากล รวมทั้งมีการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและพันธมิตรการค้ากับเพื่อนบ้านอีกด้วย

ทั้งนี้ ได้ทดลองนำร่องใน 4 ภูมิภาค คือ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 2 ที่มี จ.จันทบุรี เป็นศูนย์กลาง มีผู้ประกอบการของไทยและเพื่อนบ้านร่วมกันพัฒนาสินค้าขึ้นมา คือ น้ำมะม่วงสองแผ่นดิน ใช้ชื่อว่า "ลินจันท์" (ไพลิน-จันทบุรี) ซึ่งเป็นการผสมผสานจุดเด่นของมะม่วงแก้วขมิ้นจากกัมพูชา และมะม่วงน้ำดอกไม้ของไทย

ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ที่มี จ.เชียงราย เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ความร่วมมือในตะเข็บนี้จะเชื่อมโยงกับรัฐฉานและเชียงตุงของเมียนมา โดยมีสมุนไพร ได้แก่ ไพล และทานาคาเป็นสินค้านำร่อง กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 ที่มี จ.สกลนคร และนครพนม เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ ความร่วมมือในตะเข็บนี้จะเชื่อมโยงกับสะหวันนะเขต และ สปป.ลาว โดยมีโคเนื้อและโคขุนเป็นสินค้านำร่อง และกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 โดยมี จ.สมุทรสาคร และประจวบคีรีขันธ์ เป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่างๆ

ความร่วมมือในตะเข็บนี้จะเชื่อมโยงกับจังหวัดมะริด ประเทศเมียนมา จากการดำเนินกิจกรรมโดยมีสินค้าประมงเป็นสินค้านำร่อง เป็นการนำวัตถุดิบประมงจากเมียนมามาใช้เป็นวัตถุดิบในประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างหอการค้า จังหวัดประจวบฯ-มะริด ปีนี้ สนค. ศูนย์ฯ ผม และเครือข่ายในต่างจังหวัด (ภาคตะวันออกกับภาคเหนือ) จะผลักดันผลิตภัณฑ์มะม่วงชนิดใหม่ เช่น ข้าวเหนียวมะม่วงสองแผ่นดินอบแห้ง ลูกอมมะม่วง แยมมะม่วง และทุเรียนสอดไส้เม็ดมะม่วง เป็นต้น

คำถามที่สำคัญคือว่า "หลังจากเกิดผลิตภัณฑ์สองแผ่นดินแล้ว เอาไปขายตลาดไหน" ณ วันนี้ ผมได้มีโอกาสนำน้ำมะม่วง 2 แผ่นดิน "ลินจันท์" ไปทดสอบยังประเทศที่สามคือ "กาตาร์" ผ่านบริษัท Lu Lu Group International ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกของนักธุรกิจอินเดีย มีศูนย์การค้ากว่า 159 ทั่ว GCC บริษัท Qatar National Import and Export (QNIE) เป็นบริษัทนำเข้าและส่งออกแห่งกาตาร์ และบริษัท Mega Mart (The Center) ผลการทดสอบพบว่า รสชาติน้ำมะม่วงอร่อย และต้องบอกว่าเป็น "Product of Thailand"

นอกจากนี้ บริษัทไทยที่ชื่อว่า "Kruyu Cottage (ครูยุ คอทเทจ)" ต้องการนำน้ำมะม่วงสองแผ่นดินไปขายที่ตลาดอเมริกา เพราะเขาเคยไปออกงานแสดงสินค้าที่ชื่อว่า "Americas Food and Beverage" รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 1-2 ต.ค. 2561 เพราะเขาเคยนำน้ำมะพร้าวผสมมะตูมไปขายได้ดีมาก และคิดว่าคนอเมริกันน่าจะความสนใจน้ำมะม่วงของไทย โดยไม่ต้องปรับใส่ขวดพลาสติก เพราะขวดแก้วใส่แล้วดูดีมีคุณภาพ ซึ่งปี 2562 งานนี้จะจัดระหว่างวันที่ 23-24 ก.ย. (www.americasfoodandbeverage.com) รัฐฟลอริดาเหมือนเดิมครับ

หากเราไปดูสถิติการนำเข้าน้ำผลไม้ของกาตาร์ ก่อนปี 2560 ร้อยละ 90 กาตาร์นำเข้าน้ำผลไม้มาจากซาอุดิอาระเบียและยูเออี ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่ผมไปเก็บที่กาตาร์ โดยนำเข้ามาจากซาอุดิอาระเบียและยูเออี แต่หลังจากปี 2560 แล้ว กาตาร์มีประเด็นกับกลุ่ม GCC (ซาอุดิอาระเบีย โอมาน ยูเออี กาตาร์ คูเวต และบาห์เรน) ทำให้ต้องนำเข้าทุกสินค้ามาเอง ปัจจุบันน้ำผลไม้ทั้งที่วางขายในโดฮาและดูไบของไทยมีเพียง 2 ชนิด คือ น้ำผลไม้ผสมแมงลักกับน้ำมะพร้าว นอกนั้นเป็นน้ำผลไม้ของประเทศอื่นๆ ทั้งหมด จะเห็นได้ยังมีโอกาสของน้ำผลไม้ไทยอีกมากที่สามารถขยายตลาดไปได้อีกในตลาดตะวันออกกลาง เพียงแต่ต้องหาแนวทางการตลาดที่ชัดเจนครับ