posttoday

Library@harbourfront ห้องสมุดกลางห้างสิงคโปร์

17 มกราคม 2562

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2562 สิงคโปร์เปิด library@harbourfront ห้องสมุดบนห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่กินพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร

เรื่อง มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2562 สิงคโปร์เปิด library@harbourfront ห้องสมุดบนห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศที่กินพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร บนชั้น 3 ของห้างสรรพสินค้า VivoCity โดยมีหนังสือ 2 แสนเล่ม นิตยสารหลายหัวจากต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ดิจิทัล (e-newspaper) รวมทั้งสื่อโสตและเสียงไว้ให้ผู้ใช้บริการ โดยแบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนเด็ก (Children’s area) และวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ (Adults and teens section) ที่มีสื่อและหนังสือแตกต่างกันตามวัย มีพื้นที่เอื้ออำนวยให้ครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกันที่ห้องสมุด

ห้องสมุดนี้เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00-21.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ความพิเศษของ library@harbourfront อยู่ที่ผู้ใช้บริการสามารถมองเห็นวิวเกาะเซนโทซ่าได้อย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากจะเป็นที่หาความรู้แล้วห้องสมุดที่นี่ยังเป็นที่พักผ่อนได้ด้วย โดยรัฐบาลปิดห้องสมุดสาธารณะบูกิตเมราห์ (Bukit Merah) แล้วย้ายทรัพยากรทั้งหมดมาที่นี่แทนเพื่อต้องการให้คนใช้ห้องสมุดมากขึ้น โดยตั้งเป้าว่าจะมีผู้ใช้บริการ 1.5 ล้านครั้ง/ปี

ที่ผ่านมา สิงคโปร์มีห้องสมุดสาธารณะซึ่งตั้งอยู่ใกล้แห่งชุมชนต่างๆ รอบเกาะมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ แต่แนวคิดเรื่องการย้ายห้องสมุดชุมชนมาไว้บนห้างสรรพสินค้าเริ่มขึ้นเมื่อหลายปีก่อนท่ามกลางวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมืองที่มีเวลาจำกัด ต้องการความสะดวกสบาย สอดคล้องกับการที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะทำให้สิงคโปร์เป็น Smart nation ทำประเทศให้ทันสมัยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ห้องสมุดก็ถูกนิยามว่าควรเข้าถึงง่าย

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ของสิงคโปร์คือคณะกรรมการหอสมุดแห่งชาติ (National Library Board-NLB) สังกัดกระทรวงการติดต่อสื่อสารและข้อมูล (Ministry of Communication and Information: MCI) ที่ออกมาตรการดึงดูดผู้คนมาใช้ห้องสมุดที่ทันสมัย สถานที่ตั้ง การเดินทางที่สะดวกต่อประชาชน เช่น ต้องตั้งใกล้สถานีรถไฟฟ้า ล้วนเป็นสิ่งที่คณะกรรมการเน้นย้ำ มีการกำหนดพื้นที่ว่าห้องสมุดแต่ละแห่งจะเป็นพื้นที่ให้บริการของผู้คนในชุมชนใดบ้าง NLB ยังใช้โมเดลที่เปิดรับอาสาสมัครมาดำเนินงานในห้องสมุดสาธารณะหลายแห่งเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เฉพาะที่ library@harbourfront ที่เพิ่งเปิดก็ใช้โมเดลเดียวกัน โดยมีอาสาสมัครถึง 150 คน เข้ามาทำงานผู้ใช้บริการสามารถยืมหนังสือ จองหนังสือ รับหนังสือได้ที่ห้องสมุดเครือข่ายทั่วเกาะแบบ Self-service อีกด้วย

ห้องสมุดบนห้างแห่งแรกของสิงคโปร์เกิดขึ้นในปี 1999 ตั้งอยู่บนชั้น 5 ของห้าง Ngee Ann City กลุ่มเป้าหมายคือคนอายุ 18-35 ปี ก่อนที่ปี 2014 จะย้ายมาอยู่ชั้น 3 และ 4 ของห้างออร์ชาร์ดเกทเวย์ (Orchard gateway) ในชื่อ library@orchard เน้นเป็นห้องสมุด Design Thinking มีคอลเลกชั่นหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบ ไลฟ์สไตล์และศิลปะประยุกต์กว่า 1 แสนเล่ม ยังมีห้องสมุดแนวนี้เกิดขึ้นอีกตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ห้องสมุดสาธารณะ Bedok (Bedok Public Library) ที่ย้ายมาให้บริการที่ Heartbeat@Bedok ศูนย์การค้าครบวงจรขนาดใหญ่ของสิงคโปร์

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลก การจัดการเรื่องห้องสมุดแสดงถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลสิงคโปร์ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐสามารถฉีกกรอบการทำงานที่ล้าสมัยและทำงานได้ไม่แพ้ภาคเอกชนเช่นกัน