posttoday

ผลไม้ไทยบุกนครดูไบ (1)

11 มกราคม 2562

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมเขียนบทความนี้ที่โรงแรม Hyatt Regency Deira นครดูไบ (Dubai) ซึ่งเป็นเมืองธุรกิจใหญ่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates : UAE) หรืออาจจะเรียกว่า "สิงคโปร์และฮ่องกงตะวันออกกลาง" ก็ว่าได้ เพราะมีความเจริญและทันสมัยเป็นศูนย์กระจายสินค้าไปยัง ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง เป็นศูนย์การบิน และ "Free Trade Zone"

ผมมานครดูไบระหว่างวันที่ 7-11 ม.ค. 2562 โดยได้ร่วมเดินทางไปกับคณะของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำผลไม้สดและ ผลไม้แปรรูปไปหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตามนโยบาย "Demand Driven" การเลือกเจาะตลาด UAE เพราะว่าเป็นประเทศในตะวันออกกลางที่มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 2 (40,162 ดอลลาร์สหรัฐ) รองจากประเทศ กาตาร์ (64,446 ดอลลาร์) และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าผักสดและผลิตภัณฑ์ผักแปรรูปจากไทยของประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นอันดับ 1 (พิจารณาจาก 5 ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากที่สุด)

อย่างไรก็ตาม สินค้าผลไม้และแปรรูปของไทยยังเข้ามาดูไบน้อยมาก ประมาณ 1% ของสินค้าผลไม้และแปรรูปนำเข้า และยังมีโจทย์ที่ต้องทำอีกเยอะ เช่น สับปะรดนำเข้าจากฟิลิปฟินส์และอเมริกาใต้ มังคุดจากอินโดนีเซีย แตงโมจากบราซิล อินเดีย และอิหร่าน ส้มจากตุรกี ปากีสถาน และอียิปต์  มะละกอจากไทย อินเดีย และศรีลังกา มะม่วงจากเคนยา ฝรั่งจากเวียดนาม เงาะจากเวียดนาม เมื่อเทียบกับสินค้าจากฟิลิปฟินส์ที่มีสัดส่วนถึง 15% (ประเมินโดยผู้บริหารบริษัทนำเข้า True Bell) ผู้ประกอบการที่ร่วมเดินทางด้วยมีทั้งหมด 15 ราย จากทุกภูมิภาคของไทย เช่น ทุเรียน มังคุด สับปะรด มะพร้าว มะนาว และมะขามหวาน รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปจาก 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

ในปี 2562 คาดว่าประชากรใน UAE ประมาณ 10.7 ล้านคน (ที่มา : Statistics Portal) มีชาวต่างชาติที่อาศัย (Expat) คิดเป็น 90% เหลือเป็นชาว UAE หรือที่เรียกว่า "Emirate" ได้แก่ อินเดีย 30% ตามด้วยปากีสถาน 13% และบังกลาเทศ 7% ตามลำดับ UAE ประกอบด้วยรัฐเจ้าผู้ครองนคร (Emirates) 7 รัฐ ได้แก่ อาบูดาบี (Abu Dhabi) อัจมาน (Ajman) ดูไบ (Dubai) ฟูไจราห์ (Fujairah) ราสอัลไคมาห์ (Ras al-Khaimah) ชาร์จาห์ (Sharjah) และอุมม์อัลไกไวน์ (Umm al-AQuwain) มีเมืองอาบูดาบีเป็นเมืองหลวง ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด (รายได้ 80% มาจากน้ำมัน) ตามด้วยเมืองเศรษฐกิจดูไบ (รายได้จากน้ำมัน 5%) แต่ประชากรของนครดูไบ 3 ล้านคน ในขณะที่อาบูดาบี 1.7 ล้านคน
 
UAE มีรายได้ร้อยละ 34 จากน้ำมัน นอกนั้นเป็นรายได้ต่ำกว่า 10% ของ GDP มาจากค้าส่งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ตามลำดับ การไปครั้งนี้เป็นการหาช่องทางการตลาดแบบ "เคาะประตู (Knock Door)" ไปที่ผู้นำเข้าใน UAE จำนวน 9 บริษัท เช่น บริษัท True Bell Group เป็นกลุ่มนักธุรกิจอินเดีย เป็นผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง โรงพยาบาล ผู้จัดจำหน่ายและผู้ส่งออกที่อยู่ในกลุ่มประเทศ GCC และร่วมมือกับแบรนด์ต่างประเทศมากกว่า 100 ราย บริษัทนี้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มให้แก่โรงแรมระดับ 5 ดาว ร้านค้าปลีกกว่า 1,200 ร้าน และสายการบิน จำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และไม่มีแอลกอฮอล์ใน Dubai Duty Free ขายส่งทั่วทั้ง UAE มีสินค้าจากประเทศไทย ได้แก่ Waffle เบียร์สิงห์ และปูอัด เป็นต้น

บริษัท Mirak ก่อตั้งในปี 1985 เป็นเจ้าของและดำเนินงานฟาร์มในอาร์เมเนีย ตูนิเซียและ UAE สามารถจัดหาผลผลิตตามฤดูกาลและจากที่ดีที่สุดทั่วโลกได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผลผลิตที่สำคัญที่ปลูกในฟาร์ม เช่น แตงโม ข้าวโพดหวาน เห็ด มะเขือเทศเชอร์รี่ แอปริคอต หน่อไม้ฝรั่ง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยส่งออกไปสู่ตลาด GCC และตลาดต่างประเทศ ภายในเวลา 2 ปี จำนวนผลผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็น 400 ตัน Mirak ได้ร่วมมือกับแบรนด์ต่างประเทศและมีสิทธิพิเศษในการซื้อขายกับแบรนด์ในสเปน อิตาลี ฮอลแลนด์ ตูนิเซีย และทั่วโลก

อ่านต่อฉบับหน้านะครับ