posttoday

กระตุ้นอาเซียนร่วมมือ ความปลอดภัยไซเบอร์

15 ธันวาคม 2561

ปิยะนุช ผิวเหลือง

ปิยะนุช ผิวเหลือง


ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน กระตุ้นให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ผ่านการผลักดันกฎหมายคุ้มครองประชาชน ตลอดจนการสื่อสารในเวทีระดับโลก

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เมื่อต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 18 หรือ TELMIN ณ เมืองอูบุด บาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย พร้อม อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้รัฐมนตรีไอซีที ทั้ง 10 ประเทศของภูมิภาคอาเซียน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่จะต้องเร่งดำเนินงานร่วมกันในภูมิภาค

สำหรับประเด็นที่กระทรวงดีอี ได้เสนอความคิดเห็นผ่านเวที TELMIN ได้เน้นย้ำประเด็นความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวสู่ยุคดิจิทัล นอกจากนี้ยังได้เสนอประเด็นความเชื่อมโยงและการขับเคลื่อน
(Connectivity and Mobility), เมืองอัจฉริยะ (Smart City), เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และกำลังคนและสังคม (Manpower and Society) ทั้งนี้ ที่ประชุม...เห็นพ้องกับข้อเสนอของประเทศไทย และมอบหมายให้ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสนำไปพิจารณา เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานต่อไป

กระตุ้นอาเซียนร่วมมือ ความปลอดภัยไซเบอร์

ทั้งนี้ ที่ประชุม TELMIN ยังเห็นชอบกับข้อเสนอของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ASEAN Digital Minister Retreat Meeting โดยจะจัดขึ้นที่ จ.ภูเก็ต ในช่วงเดือน เม.ย. 2562 เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนดิจิทัลของอาเซียนในระดับชุดโครงการ (Action Programs) มีประเด็นเร่งด่วน 6 ด้าน คือ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, สมาร์ทซิตี้, กระแสของข้อมูล (Data Flow), ความเชื่อมโยงและการขับเคลื่อน, เศรษฐกิจดิจิทัล, และกำลังคนด้านดิจิทัลและสังคม ตลอดจนสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยในปี 2562 ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการวางอนาคตอาเซียนโดยเฉพาะการมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy)

สำหรับแผนแม่บทด้านดิจิทัลของอาเซียน ที่ไทยเตรียมการก่อนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปีหน้า ครอบคลุมการพัฒนา 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) 2.การพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 3.การเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน 4.การประสานความร่วมมือในภูมิภาค และ 5.การเชื่อมโยงระดับประชาชนและสังคม

นอกจากนี้ ไทยได้หารือกับหอการค้าสหรัฐ-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) มีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ของโลกเข้าร่วมประชุม ได้แก่ กูเกิล, แอปเปิ้ล, Qualcomm, เน็ตฟลิกซ์, อะโดบี,
เฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟท์, CISCO, แอมะซอน, AT&T, Salesforce, Stripe และอินเทล ซึ่งหอการค้าสหรัฐได้แสดงความยินดีกับประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนในปีหน้า และให้ความสนใจกับการดำเนินงานของอาเซียนในด้านดิจิทัล

สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการทั้งยักษ์ใหญ่ พร้อมสนับสนุนการพัฒนา 5จี ในประเทศไทย การสร้างภาพยนตร์โดยคนไทย และยินดีนำเนื้อหาภาพยนตร์ เผยแพร่ผ่านช่องทางของเน็ตฟลิกซ์ ที่เป็นแพลตฟอร์มรับชมภาพยนตร์ และละครระดับโลก ตลอดจนไมโครซอฟท์ ได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนของไทยหลายโครงการเพื่อพัฒนาดิจิทัลในประเทศ