posttoday

โกโก้อาเซียน

14 ธันวาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โกโก้ (Cocoa) เป็นอีกพืชเศรษฐกิจของอาเซียน เพราะมีการปลูกกันหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปฟินส์ เวียดนาม และไทย (โกโก้มาจากต้น Cacao) แต่อาเซียนไม่ใช่ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก

ปี 2560 ผลผลิตโกโก้โลกอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน ซึ่งนับจาก "Cocoa Bean" (ลดลงไป 2.3% เทียบปีที่ผ่านมา) ทวีปแอฟริกามีผลผลิต 72% ของผลผลิตโลก ตามด้วยลาตินอเมริกา 18% และเอเชีย 10% โดยไอวอรีโคสต์  กานา เอกวาดอร์ และอินโดนีเซีย คือ 4 ประเทศที่มีกำลังผลผลิตถึง 72% (เอกวาดอร์แซงหน้าอินโดนีเซียขึ้นเป็นที่ 3 เมื่อปี 2560) ขณะที่ความต้องการของโลก 3.5 ล้านตัน (เพิ่มขึ้น 2% กับปีที่ผ่านมา) ยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของโลกที่มีความต้องการคิดเป็นสัดส่วน 40% อเมริกาเหนือมีความต้องการสัดส่วน 23% เอเชีย 17%

ภาพของโกโก้ในปี 2563 ค่อนข้างไปในทิศทางที่สวยหรู เช่น ICCO (International Cocoa  Organization) คาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าความต้องการโกโก้ของโลก 4.7 ล้านตัน และการผลิตโลกอยู่ที่ 4.6 ล้านตัน ซึ่งก็ไปสอดคล้องกับหนังสือ "Telegraph" ของอังกฤษ บอกว่า ปี 2563 ทั่วโลกจะขาดช็อกโกแลตอยู่ 1 ล้านตัน

ถ้าเป็นตามข้างต้นราคาก็ต้องดี แต่ราคาในปี 2559-2560 ลดลงไปถึง 58% (FarmBridge International) "มันเกิดอะไรขึ้น" คำตอบคือผลผลิตโกโก้ออกมาเยอะเกินกว่าความต้องการ ปี 2558-2560 สต๊อกโกโก้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ผลิตมากกว่าความต้องการ) จาก 1.4 ล้านตัน เป็น 1.7 ล้านตัน ส่งผลทำให้ราคาตลาดโลกลดลงจาก 3,361 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน (ปี 2559) เหลือ 2,185 สหรัฐ/ตัน (ปี 2561 ตลอดทั้งปีราคาค่อนข้างผันผวน)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียลดผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 ผลผลิต 2.9 แสนตัน (70% ปลูกที่เกาะสุลาเวสี) จากเดิมที่ผลิต 8.5 แสนตัน ในปี 2552 (Central Statistics Agency อินโดนีเซีย) เพราะหันไปปลูกปาล์มแทน (รายได้จากโกโก้ 4 แสนบาท/ปี รายได้จากปาล์ม 7 แสนบาท/ปี) คาดว่าในปี 2561 ผลผลิตจะลดลงเหลือ 2.6 แสนตัน ในปี 2557 เช่นกัน

สถานการณ์แบบนี้ไม่ดีสำหรับอุตสาหกรรมโกโก้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงเก็บภาษีส่งออกเมล็ดโกโก้ 0-15% ของมูลค่าการส่งออก (มูลค่าภาษีส่งออกเมล็ดโกโก้ = อัตราภาษีส่งออก x ราคาอ้างอิงตลาดโลก x ปริมาณการส่งออก x อัตราแลกเปลี่ยน) เพื่อลดการส่งออก โดยหันไปเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปแทน และส่งเสริมอุตสาหกรรมช็อกโกแลตที่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานอย่างจริงจัง

สถานการณ์ผลผลิตของมาเลเซียไม่ต่างจากอินโดนีเซีย ผลผลิต ลดลงจาก 2.7 แสนตัน (ปี 2543) เหลือ 1,000 ตัน ในปี 2560 พื้นที่ปลูกลดลงจาก 2.5 ล้านไร่ เหลือ 1 แสนไร่ แต่มาเลเซียมีเป้าหมายเป็น "King of Chocolate in Asia" รัฐบาลจึงบรรจุใน "National Commodity Policy 2554-2563" ว่าต้องเพิ่มผลผลิตเป็น 6 หมื่นตัน พื้นที่ปลูกเป็น 2.5 แสนไร่ ผลผลิตต่อไร่เพิ่มจาก 192 กก./ไร่ เป็น 240 กก./ไร่ และให้เงินสนับสนุนในการปลูกและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่วนฟิลิปฟินส์ผลิต 8,000 ตัน (ปี 2559) มีเป้าหมาย 1 แสนตัน ในปี 2563 เวียดนามปลูก 1.5 แสนไร่ (ปี 2555) ผลผลิต 7 หมื่นตัน ปลูกทางตอนใต้ สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป้าหมาย 5 แสนไร่ ในปี 2563

ผมประเมินว่าในอนาคต "ศูนย์กลางช็อกโกแลตและผลิตภัณฑ์จากโกโก้" จะเป็นความร่วมมือของอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยอินโดนีเซียสนับสนุนผลผลิตโกโก้และแปรรูป ส่วนมาเลเซียเน้นการแปรรูปอย่างเดียว ในขณะที่เวียดนามยังต้องเร่งการผลิตเพื่อส่งออกเมล็ดโกโก้ ส่วนการแปรรูปคงต้องใช้ระยะเวลา และผมยังมองว่าอุตสาหกรรมช็อกโกแลตยังมีอนาคต เพราะการบริโภคต่อคนต่อปีจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทยดังนี้ 1.รวบรวมข้อมูลโกโก้ทั้งประเทศและโลก 2.จัดเทศกาลช็อกโกแลตแบรนด์ไทย ฟิลิปฟินส์จัดที่เมือง Davao ชื่อว่า "Davao Chocolate Festival" และมาเลเซียมีเทศกาล "Chocolate Day" "Chocolate Festival" 3.ตั้งคณะกรรมการโกโก้ แห่งชาติ (Thailand Cocoa Board) เพื่อดูแลโกโก้ทั้งระบบ 4.ควบคุมมาตรฐาน  ได้แก่ พันธุ์ และคุณภาพของผลผลิต เพราะไปเกี่ยวข้องกับราคาส่งออก