posttoday

เหล็กจีนทะลักอาเซียน

30 พฤศจิกายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมเขียนบทความนี้ที่โรงแรม Equatorial โฮจิมินท์ เวียดนาม เพราะระหว่างวันที่ 26-28 พ.ย. 2561 ผมได้รับเชิญจาก คุณวิโรจน์ โรจน์วัฒนชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันเครือข่ายภายใต้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เข้าร่วมสัมมนา "2018 ASEAN Iron and Steel Sustainability Forum" ที่ Hotel Equatorial มีหน่วยงานราชการและภาคเอกชนอาเซียนเข้าร่วม 200 คน ฝ่ายไทยมา 39 คน งานนี้จัดโดย "South East Iron and Steel Institute (SEAISI)" สำนักงานตั้งที่มาเลเซีย ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

อุตสาหกรรมเหล็กเป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคตและน่าสนใจมาก เพราะหลายอุตสาหกรรมใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ ก่อสร้างใช้เหล็กมากสุด 53% เครื่องจักร 18% รถยนต์ 15% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 7% (สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีฯ, 2560) ในอนาคตความต้องการใช้เหล็กเพื่อก่อสร้างจะยิ่งมากขึ้นเพราะ เหล็กนำมารีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ส่วนปูนซีเมนต์ไม่สามารถทำได้

ปัจจุบันเหล็กก็ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบา ทนทาน และทนต่อการกัดกร่อนสูง ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จีนครองเบอร์หนึ่งของโลกทั้งการผลิตและการส่งออกเหล็ก ตามด้วยยุโรป ญี่ปุ่น และอินเดีย ตลาดส่งออกหลักของจีนอยู่ที่ประเทศอาเซียน (สัดส่วน 33% ของการส่งออกเหล็กจีน) เหล็กจีนทะลักเข้ามาในอาเซียนมากเพราะ 1.ความต้องการเหล็กอาเซียนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 30 ล้านตันในปี 2553 เป็น 78 ล้านตันในปี 2559 และ 82 ล้านตันในปี 2560

เวียดนามและไทยมีความต้องการใช้เหล็กมากสุดปีละ 20 ล้านตัน แต่ช่วง 2 ปีหลังความต้องการของเวียดนามดูจะแซงหน้าไทยทั้งความต้องการและการผลิต ตามด้วยอินโดนีเซีย (13 ล้านตัน) ส่วนฟิลิปปินส์และมาเลเซียมีความต้องการใกล้เคียงกันที่ 10 ล้านตัน ในขณะที่อาเซียนสามารถผลิตเหล็กได้เพียงปีละ 35 ล้านตันเท่านั้น เวียดนามจึงตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น "เบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมเหล็กของอาเซียน" ปี 2560 เวียดนามผลิตเหล็ก 11.5 ล้านตัน/ปี (ความต้องการ 22 ล้านตัน/ปี) จะเพิ่มเป็น 32.3 ล้านตัน/ปีในปี 2563 และ 66 ล้านตันในปี 2578

การผลิตเหล็กเวียดนามเพิ่มสูงเพราะเวียดนามให้มีการผลิตเหล็กต้นน้ำในประเทศ เช่น การตั้งโรงถลุงเหล็กโดยบริษัท ฟอร์โมซา กรุ๊ป (FORMOSA) จากไต้หวัน ร่วมกับ เจเอฟอี จากญี่ปุ่น และกลุ่มพอสโก (Posco) จากเกาหลี มีการผลิตเหล็กเฟสแรกที่ 2 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 7 ล้านตัน และหลังจากวันที่ 23 มี.ค. 2561 ที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็กจากจีนร้อยละ 25 ทำให้เหล็กจากจีนไม่สามารถขายให้สหรัฐได้ ก็ต้องส่งไปตลาดอื่นๆ  โดยเฉพาะอาเซียน

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาจีนส่งออกเหล็กไปอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นมากจาก 6.5 ล้านตัน เป็น 37 ล้านตัน โดยช่วงปี 2558-2559 เป็น 2 สองปีที่มีการนำเข้าสูงสุด เวียดนามคือตลาดอันดับหนึ่งของจีนในอาเซียน ตามด้วย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา ส่วนเหล็กเวียดนามก็มีตลาดอาเซียนและสหรัฐเป็นหลักเหมือนจีน ทำให้สหรัฐใช้มาตรา 232 เล่นงานทั้งจีนและเวียดนาม  เพราะเวียดนามเร่งผลิตเหล็กออกมามาก

ปี 2560 จีนผลิตเหล็กรวม 850 ล้านตัน (เป็น 50% ของโลก จากเดิมที่มีสัดส่วนเพียง 30%) เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 33 ล้านตัน ปี 2561 ผลิต 886 ล้านตัน ความต้องการใช้ภายในประเทศ 810 ล้านตัน ทำให้เหลือส่งออกมากกว่า 70 ล้านตัน/ปี

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนต้องการลดกำลังการผลิตเหล็กเพราะถูกกดดันจากนานาประเทศว่าผลิตเหล็กราคาถูกมาทุ่มตลาดรวมถึงผลกระทบ สิ่งแวดล้อม โดยลดลงปีละ 150 ล้านตัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าว จีนจึงเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเหล็กเข้าไปอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวียดนาม

ขณะนี้ไทยมีเหล็กจีนและเวียดนามเข้ามาเยอะมาก "เราจะทำกันอย่างไร" ผมเสนอว่า เราควรพัฒนาเหล็กต้นน้ำคือกลุ่มเหล็กที่เป็นวัตถุดิบเพื่อป้อนอุตสาหกรรมและให้ความสำคัญต่อการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม และจับตาโดยใกล้ชิด ต่อสินค้าเหล็กที่อาจจะไหลทะลักมาจากผลของสงครามทางการค้าด้วยครับ