posttoday

อนาคตมะพร้าวไทย?

23 พฤศจิกายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมประชุมกับคุณอำนาจ มณีแดง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการน้ำมันพืชและพืชน้ำมัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เรื่อง "อนาคตมะพร้าวไทย" จ.ประจวบฯ ถือว่าเป็น "เมืองหลวงมะพร้าวแกงของไทย" เพราะประจวบฯ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดจำนวน 4 แสนไร่ และชุมพรกับสุราษฎร์ธานีอย่างละ 2 แสนไร่

หลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเราทราบว่าราคามะพร้าวลดลงอย่างมาก ต้นปี 2559 ราคามะพร้าวแกงลูกละ 23 บาท เดือน พ.ค. 2561 ตกเหลือ 6.75 บาท/ลูก เดือน พ.ย. 2561 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 6.50 บาท/ลูก อะไรคือ "สาเหตุหลักที่ทำให้ราคามะพร้าวไทยตก" ผมสามารถไล่เลียงและได้ทางออกมะพร้าวไทยดังนี้1.ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องและไม่ไปในทิศทางกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปี 2557 พื้นที่ปลูกมะพร้าวแกง 1.3 ล้านไร่ ผลิตได้ 1 ล้านตัน ปี 2560 พื้นที่เหลือ 1.1 ล้านไร่ ผลผลิตเหลือ 8 แสนตัน ปลูกที่ประจวบฯ ร้อยละ 42% ความต้องการมะพร้าว 1.3-1.4 ล้านตัน/ปี (ประเมินจากคุณอำนาจ) มีการนำเข้า ปี 2560/2561 จำนวน 5 แสนตัน ร้อยละ 60 ไปทำมะพร้าวกะทิ การบริโภค 35% และน้ำมันมะพร้าว 5% ซึ่งจริงๆ แล้วราคาต้องสูงขึ้นเพราะความต้องการมีมากกว่าผลผลิต

เหตุผลที่ผลผลิตลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะในหลายปีที่ผ่านมา หันไปปลูกยางพารา ปลูกข้าว และปลูกปาล์ม เพราะให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ตัวเลขของ สกว. พบว่า ช่วงปี 2549-2553 ยางพาราให้ผลตอบแทน 9,580 บาท/ไร่ ทุเรียน 6,615 บาท/ไร่ สับปะรด 4,954 บาท/ไร่ ปาล์มน้ำมัน 3,982 บาท/ไร่ มะพร้าวเท่ากับ 3,129 บาท/ไร่ (สกว., 2553)

2.ศักยภาพการผลิตมะพร้าวไทย สู้อินโดนีเซีย ฟิลิปฟินส์ และอินเดียไม่ได้ ต้นทุนปลูกมะพร้าวอินเดียอยู่ที่ 8,900 บาท/ไร่ ไทยเท่ากับ 10,164 บาท/ไร่ หรือลูกละ 8.47 บาท นั่นหมายความว่า ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าของอินเดีย 1,200 บาท/ไร่ อินโดนีเซียให้ผลผลิต 1 ตัน/ไร่ อินโดนีเซียปลูกได้ทุกเกาะ โดยพื้นที่ปลูกบนเกาะสุมาตรามากสุดร้อยละ 33 ตามด้วยเกาะชวา ฟิลิปปินส์ มีผลผลิตต่อไร่เท่ากับ 692 กก. ในขณะที่ไทยผลผลิตต่อไร่อยู่ที่ 762 กก. ซึ่งผลผลิตต่อไร่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2548 ที่ผลิตได้เท่ากับ 1,128 กก./ไร่ ทำให้ต้องนำเข้ามาพร้าวทุกประเภทปีละ 2 แสนตัน

3.การแปรรูป ประเทศไทยยังแปรรูปเพื่อส่งออกน้อยเมื่อเทียบกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ การส่งออกมะพร้าวทุกประเภทของไทย มีมูลค่าส่งออกอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท (ปี 2560) โดยน้ำกะทิสำเร็จรูปส่งออกมากที่สุดร้อยละ 90  ตลาดหลักอยู่ที่สหรัฐและยุโรป ที่เหลือเป็นส่งออกมะพร้าวแห้ง ขูดฝอย ผลผลิตมะพร้าวของอินโดนีเซียส่งออกส่วนใหญ่เป็นน้ำมันมะพร้าว (Coconut Oil : CNO) ร้อยละ 30 มูลค่าส่งออกในตลาดโลกเท่ากับ 1.7 หมื่นล้านบาท ส่วนน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ (Virgin Coconut Oil : VCO) มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท ที่เหลืออื่นๆ เป็นมะพร้าวขูดฝอย (Desiccated Coconut) และมะพร้าวแห้ง (Copra) เป็นต้น ซึ่งมีมูลค่า 8,500 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกมะพร้าวของประเทศฟิลิปปินส์ ส่งออกน้ำมันมะพร้าวมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท และส่งออกน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์เท่ากับ 2 หมื่นล้านบาท ที่เหลือเป็นการส่งออกมะพร้าวอื่นๆ มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ตลาดหลักของฟิลิปปินส์คือสหรัฐและประเทศในแถบยุโรป (สัดส่วนการผลิตน้ำมันมะพร้าวของฟิลิปปินส์ร้อยละ 46 ของการผลิตโลก อินโดนีเซียร้อยละ 26 และอินเดียร้อยละ 12 ของการผลิตโลก) ส่วนมูลค่าการส่งออกน้ำมันมะพร้าวและบริสุทธิ์ของไทยเทียบไม่ได้เลยกับการส่งออกของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ไทยส่งออกน้ำมันมะพร้าว 225 ล้านบาท ตลาดหลักเป็นญี่ปุ่น และส่งน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ 173 ล้านบาท ตลาดหลักคือ ญี่ปุ่นอีกเช่นกัน

4.ขาดโรงงานแปรรูปในพื้นที่ที่มีความพร้อมของวัตถุดิบ เร่งจูงใจให้มีการตั้งโรงงานแปรรูปใน จ.ประจวบฯ เพื่อตัดตอนคนกลาง 5.ไม่มีหน่วยงานเอกภาพดูแลโดยตรง ควรตั้ง "สถาบันมะพร้าวแห่งชาติ" ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และแปรรูปมะพร้าว เป็นต้น ต้องมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลมะพร้าวทั้งระบบ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เหมือนกับที่ฟิลิปปินส์มีหน่วยงานเฉพาะดูแล เช่น Philippines

Coconut Authority "PCA" ขึ้นตรงกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่หลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวให้แข่งขันในตลาดโลกได้ รวมถึงการกำหนดนโยบาย วิจัย ปลูกและทดแทนการปลูก และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โครงสร้างของ PCA แบ่งออกเป็นสำนักงานใน 51 จังหวัด (จังหวัดของฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 81 จังหวัด) สำนักงานภูมิภาค 12 แห่ง (ภูมิภาคของฟิลิปปินส์มีทั้งหมด 17 ภูมิภาค) ประธานบอร์ดบริหาร (Governing Board) คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กรรมการมาจากการแต่งตั้ง บอร์ดบริหารมีวาระ 3 ปี งบประมาณมาจากกองทุนพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวและเกษตรกร  (The  Coconut Farmers and Industry Development Trust Fund Act)