posttoday

ขบวนการนักศึกษาในประวัติศาสตร์การเมืองเวียดนาม

22 พฤศจิกายน 2561

โดย .. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย .. มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่ามกลางสภาพการเมืองปัจจุบันของเวียดนามซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจสูงสุดและไม่สนับสนุนการแสดงออกทางการเมือง จนอาจทำให้นึกภาพไม่ออกว่าในอดีตเวียดนามก็มีขบวนการนักศึกษาเช่นเดียวกับในหลายประเทศโดยมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของเวียดนามตลอดมา ตั้งแต่สมัยอาณานิคม ผ่านยุคที่แยกประเทศออกเป็นเหนือและใต้จนรวมประเทศในปี 1975

ขบวนการนี้เกี่ยวพันกับขบวนการชาตินิยมจนแทบเป็นเนื้อเดียวกัน ซึ่งมีจุดกำเนิดตั้งแต่ฝรั่งเศสพัฒนาระบบการศึกษาให้คนท้องถิ่นเพื่อผลิตข้าราชการอาณานิคม การเคลื่อนไหวเริ่มจากปี 1925 ที่มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัว ฟานโบ่ยเจิว (Phan Boi Chau) และให้ทางการอนุญาตให้ผู้คนไว้อาลัยฟานจูจิงห์ (Phan Chu Trinh) สองนักชาตินิยมชาวเวียดนาม จำนวนผู้ชุมนุมนับหมื่นในหลายสถานที่ทำให้รัฐบาลอาณานิคมตกใจและพยายามหมายหัวแกนนำ ต่อมาแกนนำเหล่านี้ก็เข้าร่วมขบวนการชาตินิยมไม่ว่าจะฝ่ายซ้ายหรือขวาที่ต่อต้านอาณานิคม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองพวกเขายังร่วมกันต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นอีกด้วย

เมื่อเข้าสู่ยุคสงครามเย็นในเวียดนามใต้มีขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวชัดเจนกว่าเวียดนามเหนือที่พรรคคอมมิวนิสต์รวบรวมกลุ่มเยาวชนเป็นแนวร่วมทำสงครามกับเวียดนามใต้และสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาจึงปรากฏหลัก ๆ ที่ไซ่ง่อนและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

กว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 1954-1975 แม้ผู้นำเวียดนามใต้จะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ และมีผู้นำอำนาจนิยมแต่การปกครองด้วยประชาธิปไตยมีส่วนสำคัญในการเปิดโอกาสให้นักศึกษาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ขบวนการนักเรียนและนักศึกษาในไซ่ง่อนเรียกร้องสันติภาพ การทำตามข้อตกลงเจนีวา (ข้อหนึ่งคือ ให้มีการเลือกตั้งเพื่อรวมประเทศในปี 1956) การเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือคนจน รณรงค์การใช้ของในประเทศ การที่สหรัฐฯ สนับสนุนการตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัยยังทำให้ขบวนการนักศึกษาขยายตัวมากขึ้น แต่ต่อมารัฐบาลเวียดนามใต้แข้งกร้าวมากขึ้นเมื่อขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวร่วมกับชาวพุทธที่เรียกร้องความเท่าเทียมทางศาสนา มีการไม่เข้าห้องสอบ เรียกร้องให้สถานศึกษาเลิกสอนด้วยภาษาฝรั่งเศสแต่ให้สอนแทนด้วยภาษาเวียดนาม (ตัวโรมัน) ต้านการเกณฑ์ทหาร ฯลฯ หลังยุคของประธานาธิบดีโงดินห์เสี่ยมจบลงในปี 1963 เวียดนามใต้มีความวุ่นวายทางการเมืองตลอดเวลา

ปี 1966 เป็นจุดเปลี่ยนเมื่อมีการสังหารนักเรียนชื่อ เลวันหง็อก (Le Van Ngoc) ในงานศพของเขามีคนมาร่วมกว่า 12,000 คนการชุมนุมนี้กลายเป็นการเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวคนที่โดนจับด้วยจนรัฐบาลยอม พวกเขายังต่อต้านทหารต่างชาติที่เข้ามา เพราะถือว่าปัญหาที่เกิดในเวียดนามเป็น “สิทธิที่ประชาชนชาวเวียดนามต้องตัดสินใจโดยที่อเมริกาไม่สามารถแทรกแซงได้”

ช่วงปลายของสงครามเวียดนามตั้งแต่ปี 1969 เป็นต้นมา ขบวนการนักศึกษาถูกรัฐบาลตัดสินว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเวียดกง ท่ามกลางสภาวะโกลาหลทางการเมืองและความตกต่ำทางเศรษฐกิจ นักศึกษาวางบทบาทตนเองในฐานะผู้นำทางปัญญา พวกเขายังใช้วัฒนธรรมเวียดนามสื่อสารกับสังคมรื้อฟื้นวัฒนธรรมเวียดนาม นักวิชาการตะวันตกเรียกกระแสนี้ว่าการรื้อฟื้นวัฒนธรรมเวียดนาม (Vietnamese Cultural Renaissance) ปลูกฝังสำนึกต่อต้านศัตรูคือสหรัฐอเมริกา สื่อสารกับประชาชนผ่านหนังสือพิมพ์ บทเพลง บทกวี การแสดงพื้นบ้าน แต่รัฐบาลเวียดนามใต้มองว่าขบวนการนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเวียดกง (Viet Cong)

เมื่อเวียดนามใต้แพ้เวียดนามเหนือในปี 1975 ด้วยระบบการเมืองซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจสูงสุด รัฐบาลควบคุมในระบบโรงเรียนอย่างเข้มข้น ขบวนการนักเรียนนักศึกษาก็หมดบทบาทลง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์กำหนดโครงสร้างที่จะดึงเอาเยาวชนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพรรคฯ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา โดยคัดเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถระดับหัวกะทิเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพเยาวชนคอมมิวนิสต์โฮจิมินห์ เน้นทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคมตลอดจนรณรงค์การเป็นเยาวชนที่ดีตามแนวทางของพรรคฯ

แม้ปัจจุบันอาจมีคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหว เช่น กลุ่มบล็อกเกอร์ แต่ก็ยากที่จะรวมตัวกันได้ภายใต้การคุมเข้มของรัฐบาล

 

ภาพ : https://namvietnetwork.files.wordpress.com/