posttoday

กว่าจะเป็น V-POP

10 ตุลาคม 2561

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ภาพนักร้องวัยรุ่นชื่อดังของเวียดนามที่ร้องเพลงแบบตะวันตกและเกาหลีที่เพิ่มจำนวนขึ้นมีจุดเริ่มต้นจากตรงไหน

ในอดีต V-pop เคยถูกเรียกว่า “เพลงวัยรุ่นไซ่ง่อน (Nhac tre Sai Gon)” เพราะต้นกำเนิดเพลงเวียดนามสมัยใหม่เคยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงเก่าของเวียดนามใต้ แนวดนตรีนี้เข้ามาในยุคสงครามเย็นพร้อมร็อคแอนโรลด์และกองทัพอเมริกัน ในยุคทศวรรษ 1960-1970 เวียดนามใต้จึงมีวงดนตรีมีชื่อ เช่น CBC Band ได้สมญานามว่าเป็น ‘The Beatles’ ของเวียดนาม สมาชิกของวงดนตรีวงนี้โตในครอบครัวธรรมดา พวกเขาหารายได้จากการเล่นดนตรีให้ทหารอเมริกันฟัง ยังมีนักร้องอย่าง เอลวิส เฟือง (Elvis Phuong) หุ่ง เกื่อง (Hung Cuong) ที่รับแนวดนตรีสมัยใหม่ และเพลงที่คนไทยคุ้นหูจากยุคนี้คือ ไซ่ง่อน แด็บ หลำ (Sai Gon Dep Lam / ไซ่ง่อนที่สวยงาม) แต่งโดย อี เวิน (Y Van) ร้องโดยแท็ญ ห่า (Thanh Ha) เพลงนี้เป็นที่รู้จักในเวียดนามอย่างกว้างขวางและถูกนำมาร้องโดยนักร้องอีกหลายคน ท่ามกลางสภาวะสงคราม เวียดนามใต้ในยุคนั้นถือว่าทันสมัยมาก และถือว่าเป็นยุคทองของธุรกิจเพลงและวงการบันเทิง

 

กว่าจะเป็น V-POP ภาพ: CBC Band

 

หลังรวมประเทศในปี 1975 วัฒนธรรมเพลงป็อบก็หยุดชะงัก นักร้องจำนวนมากต่างอพยพไปประเทศอื่น เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปกครองประเทศให้คงเฉพาะแนวเพลงที่แสดงถึงความรักชาติ เพลงพื้นบ้าน เพลงที่แสดงถึงคุณค่าและความดีงามของสังคมตามแนวทางของพรรคฯ พวกเขาต้องไปสร้างผลงานในชุมชนเวียดนามโพ้นทะเลแทนและมีการจัดมหกรรมดนตรี เช่น งาน Paris By Night ที่ฝรั่งเศส เพื่อรำลึกความหลังและสร้างความบันเทิงให้ชาวเวียดนามในต่างแดน

ดนตรีป๊อบเวียดนามยังใช้ต่อต้านสงคราม นักร้องเวียดนามที่โด่งดังและเป็นที่ชื่นชม คือ จิ่งห์ กง เซิน (Trinh Cong Son) แต่งเพลงเกี่ยวกับความรักและต่อต้านสงคราม เพลงของเขาถูกเซนเซอร์โดยรัฐบาลเวียดนามใต้ ภายหลังปี 1975 ก็ถูกเซนเซอร์ด้วยรัฐบาลสังคมนิยมเวียดนามอีกครั้ง

 

กว่าจะเป็น V-POP จิ่งห์ กง เซิน

 

ต้องรอหลังเวียดนามปฏิรูปประเทศ หรือ โด่ยเหมย (Doi Moi) และใช้เศรษฐกิจแบบตลาดในปี 1986 ที่ทำให้วงการเพลงเริ่มฟื้นตัว โดยตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2000 V-pop คึกคักเป็นอย่างมาก นักร้องเวียดนามเริ่มทัวร์คอนเสิร์ตและร่วมงานระดับนานาชาติมากขึ้น เช่น หมี เติม (My Tam) ลาม เจื่อง (Lam Truong) นอกจาก

อิทธิพลเพลงตะวันตกแล้วเพลงป๊อบเวียดนามในปัจจุบันยังได้อิทธิพลจาก K-pop เกาหลี นักร้องรุ่นใหม่ได้รับการฝึกและทำงานกับวงดนตรีในเกาหลีหลายวงก่อนกลับมาดังในเวียดนาม

 

กว่าจะเป็น V-POP เซิน ตุ่ง

 

นักร้องเวียดนามอย่าง เซิน ตุ่ง (Son Tung M-TP) บ่าว ที (Bao Thi) จี ปู (Chi Pu) นู เฟื้อก ถิ่ญ (Noo Phuoc Thinh) รวมไปถึงนักร้องลูกครึ่งเวียดนาม-เกาหลี เช่น ฮารี วอน (Hari-Won) เริ่มเป็นที่รู้จักในอาเซียน ค่ายเพลงต่างๆ เติบโตมากขึ้น มีการประกวดร้องเพลงหลายเวที เช่น เดอะวอยซ์เวียดนาม เวียดนามไอดอล เดอะสตาร์เวียดนาม พวกเขายังเริ่มทำงานร่วมกับนักร้องและวงดนตรีจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนอีกด้วยโดยเฉพาะนักร้องและนักแสดงไทย

ความร่วมมือทางวัฒนธรรมเช่นนี้ มีส่วนสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนในอาเซียน

 

ภาพ : nguoinoitieng.vn, vpopfan.com, psychfunk.com