posttoday

การอำนวยความสะดวก ทางการค้าอาเซียน (จบ)

25 กันยายน 2561

แนวทางการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกจากการศึกษาวิจัยของ ITD

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

จากรายงานการศึกษาวิจัยของ ITD ที่ได้ประมวลสถานการณ์ปัญหาการใช้ประโยชน์ความตกลงอาเซียนในมิติของการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 การใช้ประโยชน์ความตกลงว่าด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้รับการนำมาบรรจุในฐานข้อมูลของกรมศุลกากรแล้ว แต่ยังไม่สามารถเชื่อมโยงการปฏิบัติงานได้ทุกหน่วยงาน ส่งผลให้ภาคเอกชนยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะภาคเอกชนยังต้องไปยื่นขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นๆ ก่อนนำมายื่นต่อกรมศุลกากรตามระบบเดิม ดังนั้นภาครัฐควรพัฒนาให้เกิดการใช้
แบบฟอร์มเดียวกันให้สามารถใช้ได้กับทุกหน่วยงาน รวมทั้งควรมีการให้บริการโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงาน

ประเด็นที่ 2 การอำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและบูรณาการด้านการขนส่งในอาเซียน ผลการศึกษาพบว่าควรมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศ โดยมีคณะกรรมการชายแดนระหว่างประเทศมีบทบาทหลัก รวมทั้งควรมีการผลักดันให้มีการบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งระหว่างประเทศให้ครอบคลุมทุกด่านศุลกากร ควรมีการเพิ่มจุดตรวจค้นเดียว หรือการจัดตั้งพื้นที่ควบคุมร่วม รวมทั้งควรมีการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาความแออัดของการจราจรบริเวณด่านการค้าชายแดน

ประเด็นที่ 3 การส่งเสริมความรวดเร็วในการปรับตัวของภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐต้องมีการสื่อสารกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำเข้าและการส่งออกระหว่างประเทศ และพิธีการทางด้านเอกสารที่ต้องใช้ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้เอกชนมีความรู้และมีความเข้าใจกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยต้องใช้การสื่อสารสองทางโดยผ่านสมาคมหรือชมรมที่เกิดจาการรวมตัวกันของภาคเอกชน

ประเด็นที่ 4 การระงับข้อพิพาท ในระดับภูมิภาคอาเซียนได้มีการวางกฎเกณฑ์เรื่องการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจอย่างสันติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สอดคล้องกับกฎบัตรของสหประชาชาติ แต่ยังไม่มีการปรับใช้จริงให้เห็นเป็นรูปธรรม ในส่วนการระงับข้อพิพาทของภาคเอกชน ซึ่งไม่ปรากฏความตกลงเรื่องนี้ไว้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้นการระงับข้อพิพาทจึงขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมภายในของแต่ละประเทศ ดังนั้นประเทศสมาชิกอาเซียนควรนำการระงับข้อพิพาทตามภาคีความตกลงนิวยอร์ก 1958
(New York Convention 1958) มาใช้ภายในภูมิภาค ควบคู่กับการพัฒนาความร่วมมือทางระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามกรณีการมีข้อพิพาทขึ้นมาและเข้ามาสู่กลไกในการเจรจาไกล่เกลี่ยนั้น เจ้าของสิทธิจะไปดำเนินการเอง หากเป็นกรณีที่มีความสำคัญหน่วยงานรัฐบาลควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ในปัจจุบัน ข้อพิพาทด้านทรัพย์สินทางปัญญามีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจึงควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนตั้งแต่การจ้างทนายความและการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นสำคัญในการใช้ประโยชน์ความตกลงอาเซียน คือทุกประเทศต้องตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันระยะยาว การดำเนินการต้องใช้ทั้งมิติความร่วมมือด้านการค้า ความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัย และต้องใช้กลไกความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกัน และต้องดำเนินการบนพื้นฐานความไว้วางใจกัน เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนมีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันจึงส่งผลให้มีระดับความพร้อมที่แตกต่างกัน สุดท้ายแล้วความตกลงอาเซียนจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน