posttoday

โคเนื้อและประมง ใน CLMV

21 กันยายน 2561

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

วันที่ 20 ก.ย. 2561 ผมได้รับเชิญจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้ไปบรรยายเรื่อง “โอกาสและอุปสรรคโคเนื้อและประมงในประเทศ CLMV” ให้กับสมาชิกสหกรณ์ประมงและปศุสัตว์ของประเทศไทย ซึ่งผู้เข้าสัมมนามากันหลายจังหวัดและทุกภูมิภาคของประเทศ

ตามสถิติของกรมปศุสัตว์แยกโคเนื้อเป็นโคพื้นเมือง โคพันธุ์และลูกผสม และโคขุน ระหว่างปี 2555-2560 จำนวนโคเนื้อลดลงจาก 6 ล้านตัว เหลือ 5 ล้านตัว โดยโคพื้นเมืองมีสัดส่วนมากสุดร้อยละ 70 ตามด้วยโคพันธุ์และผสม ส่วนโคขุนมีสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น

ในปี 2560 อาเซียนมีปริมาณโคเนื้อทั้งหมด 45 ล้านตัว โดยอินโดนีเซียมี 16 ล้านตัว ตามด้วยเมียนมา 14 ล้านตัว เวียดนามและไทยจำนวน 5 ล้านตัว สปป.ลาว 1.8 ล้านตัว กัมพูชา 2.9 ล้านตัว ฟิลิปปินส์ 2.5 ล้านตัว และมาเลเซีย 7 แสนตัว สำหรับไทยร้อยละ 50 เลี้ยงในภาคอีสาน จ.นครราชสีมา เป็นจังหวัดที่เลี้ยงมากที่สุด กลุ่มจังหวัดสนุก (SANUK : นครพนม สกลนคร และมุกดาหาร) เลี้ยงเกือบ 4 แสนตัว ลดลงเหลือ 2.7 แสนตัว (2555-2560)

จ.สกลนคร ถือว่าเป็นศูนย์กลางของการเลี้ยงโคขุนใน 3 จังหวัด เพราะมี “โคขุนโพนยางคำ” ซึ่งได้รับ GI เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2559 และไทยต้องประกาศตัวว่าเป็น “โคเนื้อคุณภาพพรีเมียมสู่อาเซียน” การรับซื้อโคมาขุนนั้นจะซื้อโคที่มีน้ำหนัก 400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท แล้วนำมาขุน 1.5 ปี ขายได้ตัวละประมาณ 7.5-8 หมื่นบาท น้ำหนัก 800 กิโลกรัม การจำหน่ายเนื้อโคขุนโพนยางคำ จำหน่ายในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง 40% ส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าใน กทม. 60% ซึ่งจะส่งไปจำหน่ายในห้างใหญ่ๆ เช่น วิลล่ามาร์เก็ต กูร์เมต์มาร์เก็ตของเดอะมอลล์ คู่แข่งของโพนยางคำ ตลาดบนจะเป็นเนื้อออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดกลางคือ KU Beef (มหาวิทยาลัยเกษตรฯ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม) และ Max Beef (สหกรณ์เครือข่ายโคเนื้อ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม)

โคเนื้อและประมง ใน CLMV

การเป็นศูนย์กลางโคเนื้อและผลิตเนื้อของอาเซียนที่ร่วมกับ CLMV คือต้องทำ 1.มาตรฐานโรงงานและโรงเชือดแบบ GMP เช่น โรงฆ่าที่ได้มาตรฐาน GMP HACCP และ HALAL รวมทั้งมาตรฐานของการเลี้ยงแบบ GAP ปัจจุบันฟาร์มโคที่มีมาตรฐาน GAP ใน จ.สกลนคร มีประมาณ 30% จากทั้งหมด 3,000 ฟาร์ม ซึ่งต้องขยายให้ได้ GAP เพิ่มขึ้น 2.ควรจัดห่วงโซ่อุปทานให้ดีและตรงจุด เช่น ต้นน้ำควรมีการผลิตพันธุ์โคหรือลูกโคให้ทันต่อตลาด การผลิตอาหารสัตว์ควรมีในพื้นที่ ฟาร์มจะต้องมีมาตรฐาน GAP เพื่อง่ายต่อการส่งออกและการค้าในระยะยาว 3.ช่องทางการหาตลาดที่ร่วมกับสหกรณ์เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่ โดยเฉพาะตลาดจีนและมาเลเซีย เช่น จีนมีการนิยมบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปี 2556 จีนนำเข้าเนื้อโค 7 แสนตัน ปี 2561 นำเข้าเพิ่มเป็น 1 ล้านตัน (ผลิต 7 ล้านตัน บริโภค 7.8 ล้านตัน) ขณะที่นำเข้าเนื้อหมูลดลง (จาก 2.5 ล้านตัน เหลือ 1.2 ล้านตัน)

4.การเป็นเมืองคู่มิตรกับแขวงสะหวันนะเขต สามารถแสวงหาความร่วมมือได้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านต้นน้ำและปลายน้ำ เช่น การเข้าไปทำฟาร์มเลี้ยงโคขุนในช่วงที่ใกล้จะจำหน่ายในสะหวันนะเขต นอกจากนี้ยังสามารถร่วมมือในเรื่องการชำแหละและการแปรรูปที่ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการบรรจุภัณฑ์อีกด้วย 5.เพิ่มมูลค่าจากการขายผลผลิตภัณฑ์โคขุนเนื้อแปรรูปมากกว่าขายแบบมีชีวิต ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับกลุ่มจังหวัดมากกว่า

สำหรับประมงนั้น มาจากมะริดเข้ามาทาง จ.ระนอง (ทั้งขนส่งทางบกและทางน้ำ) ซึ่งห่างจากศูนย์กลางตลาดซื้อขายประมงของไทยบริเวณ จ.สมุทรสาคร และสมุทรสงครามนั้น จาก จ.ระนอง ถึง จ.สมุทรสาคร ด้วยระยะทาง 500 กม. ขณะที่ระยะทางจากมะริดไปยังเกาะสองระยะทาง 400 กม. หากเกิดการเชื่อมโยงและซื้อขายสัตว์น้ำผ่านทางด่านสิงขร จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสัตว์น้ำระหว่างประเทศ (ด่านสิงขรถึง จ.สมุทรสาคร 320 กม. ส่วนระยะทางจากด่านสิงขรไปมะริดห่าง 180 กม.)

ทั้งนี้ ที่ยังเป็นปัญหาปัจจุบัน ผมสามารถสรุปได้คือ 1.ระบบการชั่งตวงวัดของสองฝ่ายไม่เหมือนกัน เมียนมาใช้ถาดใส่สัตว์น้ำ 1 ถาด เท่ากับ 20 กก. ขณะที่ไทยใช้เป็นกิโลกรัม (1 ปิตา = 1.5 กก.) 2.การไม่ซื่อตรงในการซื้อขาย ฝั่งเมียนมาส่งขนาดสัตว์น้ำไม่ตรงตามที่ต้องการ ฝ่ายไทยก็ให้น้ำหนักสัตว์น้ำน้อยกว่าความเป็นจริง 3.โครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนนเป็นปัญหาในการขนส่ง 4.การซื้อขายไม่ได้ผ่านตัวจริงเสียงจริงของผู้ซื้อและขาย ทำให้เกิดการซื้อขายที่ไม่ถูกต้อง 5.ด่านสิงขรเป็นด่านผ่อนปรน หากสามารถยกระดับเป็นด่านถาวรการเข้าของสัตว์ของเมียนมาก็สะดวกขึ้น 6.การเข้ามาในประเทศไทยควรอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้เท่ากับประเทศไทยคือ 7 วัน และควรอนุญาตให้เข้าไป จ.สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เพื่อทำการค้าได้ 7.สร้างตลาดกลางซื้อขายสัตว์น้ำตรงด่านสิงขร และ 8.ศึกษาด่านสิงขรกับด่านพุน้ำร้อน ด่านใดมีศักยภาพการเป็นตลาดกลางมากกว่ากัน