posttoday

กระแสดิจิทัลในกัมพูชา

20 กันยายน 2561

แม้ว่าจะเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปเร็วมาก

ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

ในยุคที่เทคโนโลยีเบ่งบานและเริ่มเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายๆ ภาคส่วนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนในหลายมิติทั้งด้านการค้า การทำธุรกิจไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

เช่นเดียวกับกัมพูชาที่แม้ว่าจะเพิ่งเปิดประเทศได้ไม่นาน แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาไปเร็วมาก ไม่ว่าจะร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม หรือร้านค้าที่ทำธุรกิจด้านบริการแทบทุกถนนในเมืองหลวงล้วนแต่เห็นป้าย Free Wi-Fi ไม่เว้นในรถโดยสารหรือรถแท็กซี่สิ่งเหล่านี้ล้วนบ่งบอกถึงการพัฒนาที่มีแนวโน้มมากขึ้น

สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ให้ข้อมูลจากกระทรวงไปรษณีย์และโทรคมนาคมว่า ในปี 2560 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในกัมพูชา 8.5 ล้านคน และมีการใช้ซิมการ์ด 11.6 ล้านเลขหมาย เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือคิดเป็น 67.19% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบว่าคนกัมพูชามีการใช้งานโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง/คน ทำให้นักการตลาดทั้งหลายต้องเริ่มหันมามองหาวิธีว่า จะทำการตลาดอย่างไรให้เข้าถึงบุคคลต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือเหล่านี้

“การที่กัมพูชาสามารถใช้อินเทอร์ เน็ตได้ทั่วทุกแห่งแบบนี้เป็นสัญญาณว่า กัมพูชาจะมีการพัฒนาประเทศไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และมีการใช้เฟซบุ๊ก อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน และยังมีการสมัครใช้งานเฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 1,000 คน” ข้อมูลจากสำนักงานตัวแทนการค้าฯ ระบุ

จากข้อมูลตัวเลขเหล่านี้ ทำให้เห็นถึงโอกาสในการเข้าไปทำการตลาดสินค้าและบริการ เพื่อเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ตรงจุดผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้ ขณะที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็ยังมีแนวโน้มที่จะขยายเพิ่มขึ้น ทำให้กลายเป็นอีกช่องทางการตลาดที่มีศักยภาพน่าสนใจ

ทั้งนี้ การพัฒนาของสื่อสังคมออนไลน์และดิจิทัลในกัมพูชาที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาลกัมพูชาส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตและโมบาย เพื่อรองรับอนาคตและผู้คนจำนวนมากที่จะเชื่อมต่อกันด้วยสื่อดิจิทัล

ขณะเดียวกัน คนกัมพูชาเริ่มมีการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเฟซบุ๊กและอินเทอร์เน็ตมากขึ้น จากเดิมที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารผ่านทางทีวี และยังมีแนวโน้มที่จะใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือเพื่ออ่านข่าวสารมากขึ้น รวมไปถึงการใช้
แอพพลิเคชั่นบนมือถือ เพื่อความบันเทิงทั้งฟังเพลง ถ่ายรูป และเล่นเกม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือมากขึ้น ทั้งการรับ-ส่ง-โอนเงิน การชำระบิลค่าใช้จ่าย รวมไปถึงการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) เหตุนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการในกัมพูชาเริ่มตระหนักมากขึ้นว่า การขายสินค้าและบริการจำเป็นต้องมีทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะกระแสความร้อนแรงของอี-คอมเมิร์ซทำให้ชะล่าใจไม่ได้ เพราะหากช้าอาจทำให้ตกยุคได้ โดยปัจจุบันกัมพูชามีผู้ให้บริการชำระเงินทางออนไลน์สำคัญๆ อยู่ 4 ราย ได้แก่ Wing True Money Asia Wei luy และ PayGo

อย่างไรก็ตาม ยังมีธนาคารอีกหลายแห่งในกัมพูชาที่เข้าร่วมทำหน้าที่เป็นกระเป๋าเงินในอากาศ (วอลเล็ต มันนี่) จึงทำให้ธนาคารชาติของกัมพูชาได้ออกประกาศเพื่อควบคุมธุรกิจดิจิทัล เพย์เมนต์ โดยให้ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ต้องมายื่นจดทะเบียนกับธนาคารชาติ เพื่อขอรับใบอนุญาตดำเนินการ (ไลเซนส์) โดยกำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องฝากเงินค้ำประกัน 5% ของเงินทุนจดทะเบียนที่ชำระไว้กับธนาคารชาติ โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 6 ปี เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงให้ผู้ใช้บริการ

กระแสดิจิทัลเป็นสิ่งที่มาเร็ว ทำให้ทุกประเทศต้องเตรียมตัวรับให้ดี เพราะมันมาพร้อมกันทั้งโอกาส ขณะเดียวกันก็อาจทำให้การพัฒนาหยุดชะงัก หรือ Disruption ได้