posttoday

เตรียมแรงงาน ศตวรรษ 21

19 กันยายน 2561

การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งสำคัญของโลก

ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล

การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานครั้งสำคัญของโลก เพื่อให้ก้าวทันโลกการค้ายุค 4.0

จุดเปลี่ยนนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่จะต้องเตรียมตั้งรับให้ทันกับกระแสการย้ายฐานการผลิตและการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบจักรกลอัตโนมัติเข้ามาใช้เพื่อทดแทนการพึ่งพาแรงงานราคาถูก ทำให้มีการประมาณการกันว่า ภายในปี 2573 แรงงานกว่า 375 ล้านคนทั่วโลก อาจต้องเปลี่ยนอาชีพหรือหายไป โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

ขณะเดียวกันในศตวรรษที่ 21 นี้ ก็จะเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมากมาย โดยจะเป็นงานที่มีความต้องการแรงงานที่มีทักษะสูงขึ้น ดังนั้นการผลิตและพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ทำให้สถาบันการศึกษาต่างๆ ในฐานะแหล่งผลิตบุคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานต้องปรับตัว โดยการร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการเรียนการสอนเพื่อที่จะได้สร้างบัณฑิตที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน

เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดที่มองเห็นถึงโอกาสและใช้จุดแข็งของตัวเองที่มีอยู่มาเป็นจุดขาย เพื่อให้แสตมฟอร์ดกลายเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงตามที่ตลาดแรงงานสากลต้องการ นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่ผลิตแรงงานออกมาเพื่อป้อนตลาดแรงงานภายในประเทศเท่านั้น แต่แรงงานเหล่านี้ยังสามารถออกไปทำงานในต่างประเทศได้ นำมาซึ่งรายได้ที่สูงขึ้น

ทิม บิวโลว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท ประเทศไทย มาเลเซียและเวียดนาม ผู้บริหารมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้บอกถึงแนวทางการพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย เพื่อใช้ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะตรงตามที่ตลาดต้องการว่า การร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาหลักสูตรตามข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มของตลาด ถือเป็นสูตรของความสำเร็จ เพราะนักศึกษาเองก็จะได้มีโอกาสได้เรียนรู้งานจากสถานประกอบการจริง โดยมีภาคเอกชนเป็นคนคอยให้คำแนะนำด้านการพัฒนาหลักสูตรให้อัพเดทตลอดเวลา

นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองก็ยังมีส่วนช่วยในการถ่ายทอดประสบการณ์ ด้วยการให้โจทย์ทางธุรกิจแก่นักศึกษา เพื่อที่จะได้สร้างและเตรียมพร้อมทักษะที่สำคัญและจำเป็นให้แก่บัณฑิตก่อนที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในยุค 4.0

สำหรับมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดนั้น ที่ผ่านมาได้พัฒนาปรับปรุงหลักสูตรและพัฒนาคุณภาพนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยได้สร้างเครือข่ายร่วมกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมชั้นนำมากกว่า 300 บริษัท เพื่อบ่มเพาะทักษะบัณฑิตให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้บัณฑิตที่จบไปได้รับเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเฉลี่ยตลาดแรงงาน

ทั้งนี้ ผลสำรวจการจ้างงานของบัณฑิต มหาวิทยาลัยนานานาชาติแสตมฟอร์ดที่จบใหม่ในปีการศึกษา 2560 พบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษามากกว่า 74% ได้รับเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในตลาดแรงงานกว่า 35% และนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายส่วนใหญ่ได้งานทำก่อนเรียนจบ โดยเฉพาะการได้รับข้อเสนองานในระหว่างการฝึกงาน  

แม้ว่านักศึกษาแสตมฟอร์ดอาจมีความได้เปรียบด้านการสื่อสารและการใช้ภาษาอังกฤษอยู่บ้าง แต่สิ่งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาให้มีความพร้อมในการทำงาน กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทั้งยังต้องมีความรู้ด้านออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง ออนไลน์มีเดีย เข้าใจและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับลูกจ้างในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมี