posttoday

การอำนวยความสะดวก ทางการค้าอาเซียน (1)

18 กันยายน 2561

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

มาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ อันรวมถึงกฎเกณฑ์ที่บัญญัติโดยองค์กรหรือหน่วยงานเฉพาะ โดยในส่วนองค์การการค้าโลก ได้มีการลงนามกฎเกณฑ์เฉพาะ คือ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า อันเป็นที่มาของกรอบการดำเนินงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าของอาเซียน ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องมีการปรับปรุงนโยบายและกฎเกณฑ์ให้สอดคล้องกับหลักการของความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ

ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับประเด็นในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน โดยได้กำหนดประเด็นสำคัญทางด้านยุทธศาสตร์และได้มีการกำหนดนโยบายด้านนี้อย่างชัดเจน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะด้านหรือหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า

จากการศึกษาวิจัยพบว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องทันสมัยและเป็นไปตามหลักการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากยิ่งขึ้น ทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายศุลกากร การออกกฎเกณฑ์เพื่อมารองรับเอกสารรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียน แต่ยังมีกฎหมายที่ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียดเงื่อนไขของการใช้ จึงส่งผลให้ไม่มีการบังคับใช้จริง อีกทั้งยังมีกฎหมายที่ล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งยังคงสร้างภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนเกินจำเป็น

ประเทศไทยรวมทั้งประเทศ CLMV ได้มีการปรับปรุงกระบวนการร่างกฎหมายให้เกิดความโปร่งใสด้วยการเพิ่มขั้นตอนในการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างกฎหมาย โดยการกำหนดให้มีการทำประชาพิจารณ์เป็นไปตามหลักการสากลที่ดี ประกอบกับมีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่กฎหมายหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เป็นไปตามกรอบความตกลงของอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นยังให้ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น โดยยังขาดการค้นหาข้อมูลเชิงลึก อาทิ กฎเกณฑ์ กฎหมาย คำสั่ง หรือตัวอย่างคำวินิจฉัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรืออยู่ในรูปแบบของลิงค์เพื่อการเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งยังไม่มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน ไม่มีการแปลข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ระบุให้ทราบถึงความทันสมัยของข้อมูล ที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงมิได้มีการคำนึงถึงระยะเวลาในการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนต่างชาติที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับเปลี่ยนสินค้าหรือวิธีการดำเนินงานให้เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายใหม่

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือผู้ประกอบการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกหรือมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า จากหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิ กฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางเรื่องยังคงมีความไม่ชัดเจน หรือในบางประเด็นเป็นเรื่องที่มีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบหลายหน่วยงาน หรือเป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีกฎเกณฑ์ระดับอนุบัญญัติที่กำหนดวิธีดำเนินการปฏิบัติ รวมไปถึงแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันของเจ้าหน้าที่รัฐในระดับภายในประเทศหรือในระดับภูมิภาค ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่แน่ใจหรือเลือกที่จะปฏิบัติอย่างที่เคยทำมาเพื่อป้องกันปัญหา

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ การเลือกใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบกระดาษที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐแทนที่จะใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง