posttoday

ลินจันท์และไตไทย

14 กันยายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำโครงการวิจัยที่ชื่อว่า "โครงการหุ้นส่วนยุทธศาสตร์การค้าและประชารัฐเมืองคู่มิตรเพื่อธุรกิจสู่สากล (Strategic Partnership for Sister Cities)" โดยเน้นการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน 4 จุด คือภาคตะวันออกกับจังหวัดไพลิน กัมพูชา ภาคอีสานกับแขวงสะหวันนะเขต ภาคเหนือกับรัฐฉาน และภาคกลางกับเขตตะนาวศรี เมียนมา

ผลจากการดำเนินโครงการนี้ ผมต้องการไม่ให้เป็นงานวิจัยที่ทำแต่ยุทธศาสตร์ทางการค้าอย่างเดียว แล้ววางไว้บนชั้นในห้องสมุด แต่ผมต้องการให้มีการ "จับต้องได้" และที่สำคัญให้เกิดการค้าเกิดขึ้น สนค.กับศูนย์ฯ ผมจึงพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเป็น "ผลิตภัณฑ์สองแผ่นดิน" โดยนำร่องสินค้าเกษตรของสองประเทศคือ น้ำมะม่วงสองแผ่นดิน ที่ชื่อว่า "ลินจันท์" คำว่า "ลิน" มาจากคำว่า "ไพลิน" ของกัมพูชา และคำว่า "จันท์" มาจากคำว่า "จันทบุรี" ส่วนคำว่า "ไตไทย" นั้น เป็นน้ำมันนวดสมุนไพร โดยคำว่า "ไต" มาจากคนไต หรือ "ไทใหญ่" ในรัฐฉานของเมียนมา ส่วนคำว่า "ไทย" หมายถึง ประเทศไทย ฉะนั้นทั้งสองผลิตภัณฑ์จึงสื่อถึงการร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์ของประเทศในภายใต้ความร่วมมือที่เรียก "CLMVT"

ผมขอเริ่มจากน้ำมะม่วงสองแผ่นดินก่อนครับ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทวีทรัพย์บ้านมุมสงบ อ.เขาสมิง จ.ตราด โดย สามารถ เขตสว่าง เป็นการนำน้ำมะม่วงแก้วขมิ้นของกัมพูชา (มะม่วงจากกลุ่มเกษตรกรที่จังหวัดไพลิน) กับน้ำดอกไม้ของไทย ผสมกัน 100% ไม่มีการเจือปนน้ำตาลหรือ สารอื่นๆ เลย ผมได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบรสชาติ 3 แบบคือ น้ำมะม่วงน้ำดอกไม้ 100% น้ำมะม่วงแก้วขมิ้น 100% กับน้ำมะม่วงลินจันท์ ทุกคนบอกว่าน้ำมะม่วงลินจันท์อร่อยพอดี กลมกล่อม เปรี้ยวหวานพอดี นอกจากน้ำมะม่วงลินจันท์แล้ว เราสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สองแผ่นดินอื่นๆ ได้อีก เช่น ลูกอมมะม่วงสองแผ่นดิน ไอศกรีมมะม่วงสองแผ่นดิน และแยมมะม่วงสองแผ่นดิน เป็นต้น ขั้นตอนต่อไปคือต้องทำมาตรฐาน ตอนนี้ผมได้ GMP แล้ว แต่ยังขาดตรา "อย." ที่ต้องดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องทำ คือ 1.บริหารจัดการวัตถุดิบมะม่วงของไทยให้เหมาะสมกับฤดูกาลผลิตวัตถุดิบของไทย (เม.ย.-พ.ค. ถือเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวหลักของมะม่วงพันธุ์ไทย ช่วงที่มะม่วงไทยขาด มิ.ย.-ต.ค.) 2.บริหารจัดการการนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของไทย 3.ร่วมกันพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน GAP ร่วมของสองประเทศ 4.เป็นศูนย์กลางการรับซื้อมะม่วงแก้วขมิ้นที่ด่านบ้านผักกาด 5.สร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะม่วงไทย ผลไม้ไทย และมะม่วงแก้วขมิ้นกัมพูชา 6.นำผลิตภัณฑ์มะม่วงแปรรูปเข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพในประเทศ เช่น งาน THAIFEX และตลาดต่างประเทศเพิ่มเติมจากตลาดเดิมที่มี 7.พัฒนาบรรจุภัณฑ์และตราสินค้าที่สะท้อนถึงผลิตภัณฑ์สองแผ่นดิน

8.ร่วมมือกับศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญของประเทศ เช่น สนามบิน รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าในเมืองหลักและเมืองรองของไทย เช่น พัทยา เชียงใหม่ จันทบุรี เพื่อกระจายสินค้าสองแผ่นดิน 9.เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวนำผู้นำเข้าต่างประเทศมาเยี่ยมชมโรงงานแปรรูป 10.มีฐานข้อมูล องค์ความรู้ เรื่องรสนิยม ความต้องการการบริโภคของประเทศต่างๆ 11.สร้างการรับรู้ผลิตภัณฑ์แปรรูปสองแผ่นดิน เช่น ผ่าน Social Media และ TV Direct 12.ผลักดันเงินสกุลท้องถิ่นไทย-หยวน-ประเทศเพื่อนบ้าน และ 13.กล่องบรรจุภัณฑ์ในน้ำมะม่วงสองแผ่นดิน ปัจจุบันเป็นการบรรจุใส่ในขวดแก้ว ซึ่งมีน้ำหนักสูง ในอนาคตอาจต้องทำเป็นบรรจุกระป๋องหรือกล่องกระดาษ ซึ่งหากพัฒนาผลิตภัณฑ์สองแผ่นดินจะส่งผลทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมมะม่วงแปรรูปเพิ่มจาก 2 หมื่นล้านบาท เป็น 3 หมื่นล้านบาท ในอีก 4 ปีข้างหน้า (2565) โดยในพื้นที่ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเพิ่มจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท

สำหรับสมุนไพรสองแผ่นดินเป็นการผสมระหว่าง "ไพลของไทยกับทานาคาของเมียนมา" ซึ่งเป็นของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรสามัคคีจังหวัดเชียงรายร่วมกับบริษัทสมุนไพร "วงวัน ("Wone Vann)" ก่อตั้งเมื่อ 1982 สำนักงานอยู่ที่ตองจี รัฐฉาน เมียนมา โดยมี "Nang Hseng Siri Aung" เป็นเจ้าของ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยสมุนไพรที่มัณฑะเลย์ มีข้อเสนอแนะสำหรับสมุนไพรสองแผ่นดินคือ 1.คัดเลือก ขยายพันธุ์ และส่งเสริมสมุนไพรให้เหมาะสมกับพื้นที่ 2.บริหารจัดการการนำเข้าสมุนไพรเมียนมาให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของไทย 3.ร่วมกันพัฒนาและสร้างมาตรฐานวัตถุดิบสมุนไพรและบุคลากรของทั้งสองประเทศ 4.ออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นผลิตภัณฑ์สองประเทศ 5.นำผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร เข้าสู่ตลาดที่มีศักยภาพในสองประเทศและต่างประเทศ 6.ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการยอมรับผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพรในสองประเทศและต่างประเทศ และ 7.ผลักดันโครงการ ท่องเที่ยวเชิงสมุนไพรตามวิถีถิ่นสองประเทศ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่า ห่วงโซ่อุตสาหกรรมของกลุ่มเกษตรกรในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือเพิ่มจาก 40 ล้านบาท เป็น 60 ล้านบาท