posttoday

อาเซียนหลัง AEC 2015

13 กันยายน 2561

AEC Blueprint 2025 ถือเป็นเสมือนคัมภีร์เศรษฐกิจฉบับใหม่ซึ่งกำหนดทิศทาง วางกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า

สำนักประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

หลังจากที่สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อปี 2558 แล้ว เพื่อให้เกิดการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ลึกซึ้งและเกิดประโยชน์สูงสุด อาเซียนได้วางแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนฉบับใหม่ หรือ AEC Blueprint 2025 ถือเป็นเสมือนคัมภีร์เศรษฐกิจฉบับใหม่ซึ่งกำหนดทิศทาง วางกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2568)

AEC Blueprint 2025 ได้ระบุวิสัยทัศน์ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในระดับสูง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบธุรกิจและระบบเศรษฐกิจภายในของประเทศสมาชิก และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืนในการดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีองค์ประกอบหลัก 5 ด้าน พร้อมความคืบหน้าสำคัญ ดังนี้

1.อาเซียนจะมุ่งเปิดเสรีสินค้า โดยลดภาษีสินค้าเพิ่มเติม ยกเลิกหรือลดมาตรการที่มิใช่ภาษี อำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับปรุงกระบวนการพิธีการศุลกากร ขยายสาขาผลิตภัณฑ์ที่จะปรับประสานมาตรฐาน รวมทั้งเปิดเสรีการค้าบริการ การลงทุนและการเงินเพิ่มขึ้น ได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงระบบเพื่อแลกเปลี่ยนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (e-ATIGA Form D) ร่วมกันผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) อีกทั้งได้ลงนามความตกลงยอมรับร่วมใน 3 สาขา คือ สาขาไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาผลิตภัณฑ์ยา และสาขาอาหารสำเร็จรูป และอยู่ระหว่างการเร่งรัดการเจรจาเพื่อให้สรุปผลการจัดทำความตกลงการค้าบริการอาเซียนฉบับใหม่

2.อาเซียนมุ่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรมและประสิทธิภาพการผลิตของภูมิภาค อาทิ ในด้านนโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองผู้บริโภค ทรัพย์สินทางปัญญา การส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยได้จัดทำแผนงานการเสริมสร้างสมรรถนะด้านนโยบายและกฎหมายแข่งขัน การให้ความเห็นชอบกรอบการคุ้มครองผู้บริโภคระดับสูงของอาเซียน การเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารมาดริด (เหลือมาเลเซียและเมียนมา) และจัดทำแผนงานเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบของอาเซียน

3.การส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และความร่วมมือรายสาขา (Enhanced Connectivity and Sectoral Cooperation) เน้นการรวมกลุ่มในเรื่องการขนส่ง โทรคมนาคม อี-คอมเมิร์ซ การเงิน พลังงาน อาหาร เกษตร ป่าไม้ การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การจัดทำแผนงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์อาเซียน การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การตลาดท่องเที่ยวอาเซียน การจัดทำปฏิญญาอาเซียนด้านนวัตกรรม เป็นต้น

4.การครอบคลุมทุกภาคส่วน ยืดหยุ่น มุ่งเน้นประชาชน มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Resilient, Inclusive, People-Oriented and People-Centered ASEAN) สร้างความเข้มแข็งแก่ MSMEs การเพิ่มบทบาทและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยได้มีการรับรองกรอบการดำเนินธุรกิจแบบมีส่วนร่วมของอาเซียน การให้ความเห็นชอบแนวทางที่ดีในการจดทะเบียนธุรกิจของอาเซียน และการหารือกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการสร้างประโยชน์แก่ภาคเอกชนผ่านการจัดทำข้อริเริ่มได้อย่างตรงจุด

5.การเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก (A Global ASEAN) อาเซียนจะปรับปรุงความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ โดยเมื่อปี 2560 อาเซียนและฮ่องกงได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และอยู่ระหว่างการเร่งรัดเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

จะเห็นได้ว่าอาเซียนคำนึงถึงประโยชน์ของภูมิภาคอย่างครอบคลุมทุกด้านผ่านแผนงานดังกล่าว และการที่จะจับมือกันอย่างมั่นคงสู่ความสำเร็จ ตามแนวคิดใน AEC Blueprint 2025 ที่ว่า “อาเซียน มุ่งหน้าไปด้วยกัน” ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศสมาชิกที่จะช่วยกันผลักดันให้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้อย่างเต็มกำลัง ซึ่งเป็นความท้าทายของประเทศที่เป็นประธานอาเซียนในแต่ละปีที่จะกล่าวถึงในฉบับต่อไป