posttoday

เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ความหวังว่าฟ้าจะแจ่ม

05 กันยายน 2561

อุปสรรคสำคัญสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

โดย..ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์

เชียงรายเป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งหลายประการ เนื่องจากมีชายแดนติดกับทั้งเมียนมาและ สปป.ลาว นอกจากนั้นยังมีความเชื่อมโยงทั้งทางอากาศและทางบกที่ค่อนข้างพร้อม เป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง มีเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ที่เชื่อมเชียงรายกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองทั้งทางเส้น R3A และ R3B ไปยังมณฑลยูนนานของจีน ฉะนั้นด้วยโลเกชั่น สนามบินและเส้นทางคมนาคมสายหลักที่มีอยู่ ทำให้เชียงรายเป็นจุดที่เหมาะสมในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนของประเทศ และได้รับการจัดตั้งให้เป็นหนึ่งในเขตพัฒนาเศรษฐกิจเฟสที่ 2 โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์บริการขนส่งโลจิสติกส์ ศูนย์กลางการค้าชายแดน ศูนย์การกระจายสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตร รวมถึงศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางน้ำในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายมีความพิเศษกว่าที่จังหวัดอื่น ในขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นมีครอบคลุมพื้นที่แค่ในอำเภอเดียว แต่ที่เชียงรายครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียงของ เชียงแสน และ อ.แม่สาย ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ใน 21 ตำบลด้วยกัน

พูดถึงความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายก็มีศักยภาพที่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตร่วมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของ สปป.ลาวที่อยู่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้วได้ โดยจำเป็นต้องมีการพัฒนากลไกความร่วมมือในการวางกลยุทธ์ดึงดูดการลงทุนตลอดห่วงโซ่อุปทานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบ ปัจจัยหนึ่งคือการสื่อสารสร้างความเข้าใจกับชุมชน ไม่ใช่ว่าชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษใน จ.เชียงราย โดยภาพรวมแล้วชาวบ้านเล็งเห็นผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าที่จะเกิดขึ้นกับจังหวัดบ้านเกิด แต่ปัญหาสำคัญคือการเลือกใช้พื้นที่ที่จะจัดตั้งเมืองใหม่ และการก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมทั้งการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมก็ยังคงถูกต่อต้านอยู่

การหาที่ดินเองของภาคเอกชนในท้องที่ก็ทำได้ยาก เนื่องมาจากที่ดินมีราคาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว หลังจากมีการประกาศให้เชียงรายเป็นพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระตุ้นให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินเพิ่มมากขึ้น

อีกประเด็นอยู่ที่กฎระเบียบที่กำกับโดยหน่วยงานต่างๆ มีส่วนทำให้การบริหารจัดการไม่คล่องตัวเท่าที่ควร หากมีกฎหมายพิเศษลักษณะเดียวกับกฎหมายพัฒนาพื้นที่พิเศษาภคตะวันออก หรือ EEC เป็นการบูรณาการบริหารจัดการที่รวมศูนย์ ก็จะเป็นกลไกขับเคลื่อนที่ดีให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายคืบหน้าเห็นผลเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น และจะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

อุปสรรคต่างๆ ก่อให้เกิดความยุ่งยากและความล่าช้าในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงราย ทำให้ไทยและประเทศเพื่อนบ้านเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่ ดังนั้น การพัฒนาพื้นที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนก็ต้องชะลอตัวลงไปอีก เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกภาคส่วน ตลอดจนชุมชนใน จ.เชียงราย เองที่ต้องร่วมมือร่วมใจ ตกลง ประนีประนอมกัน ผลักดันให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นและอนุภูมิภาคโดยรวม

หวังว่า "เชียงราย ฟ้าแจ่ม" จะเป็นจริงในเร็ววัน