posttoday

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ กับการพัฒนายั่งยืน (1)

04 กันยายน 2561

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) www.itd.or.th

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยที่ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมเหล่านั้น สามารถเริ่มสร้างได้จากบุคคลเพียงคนเดียวจนไปถึงองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น นวัตกรรมจึงสามารถเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงานได้โดยตรง ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเป็นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกหรือการผลิตที่สร้างมลพิษอย่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนหรือท้องถิ่นยังมีส่วนช่วยสร้างงานและสร้างความเข้มแข็งของชุมชนจากการมีเครือข่ายความร่วมมือ และสร้างการมีส่วนร่วมภายในชุมชน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชนช่วยส่งเสริมความรู้สึกการเป็นเจ้าของร่วมกันซึ่งช่วยสร้างทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ในด้านสังคม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังช่วยลดช่องว่างทางสังคมอันเกิดขึ้นจากส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มแรงงานสตรี แรงงานคนชรา และคนพิการ ดังนั้น การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับชุมชนจึงช่วยกระจายรายได้ พัฒนาชุมชนให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งจะช่วยลดการที่แรงงานอพยพออกไปทำงานในเขตเมือง นอกจากนั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเป็นกิจกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมไปสู่บริบทของการพัฒนาที่ยั่งยืน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจนวัตกรรมโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนช่วยในการลดปัญหาความยากจน เนื่องจาก รายได้ส่วนใหญ่ของการผลิตในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตกไปสู่แรงงานและสามารถสร้างการเชื่อมโยงไปสู่องค์ความรู้ในชุมชนโดยตรง เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การสร้างงานศิลปะ การออกแบบ การแพทย์แผนไทย ซึ่งเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพากับภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสิ้น

การบริโภคในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยทั่วไปแล้วเป็นไปในทางเดียวกันกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ของคนในประเทศ กล่าวคือประเทศที่คนมีรายได้ต่อหัวสูง (เช่นประเทศที่พัฒนาแล้ว) มักจะมีสัดส่วน/มูลค่าของการบริโภคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สูงกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ ดังนั้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใด ธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ผลิตขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องพึ่งพา “การค้าระหว่างประเทศ” เช่นการส่งออกเป็นตลาดสำคัญ นอกจากรายได้ต่อหัวของประเทศคู่ค้าที่สูงกว่าแล้ว การส่งออกยังเป็นการเพิ่มขนาดของตลาด นอกเหนือจากการพึ่งพาเพียงแค่ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดเล็ก

การส่งออกสินค้าที่เกิดจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะกลุ่มงานสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสมัยใหม่ และกลุ่มแสดงออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะการส่งออกทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่จะได้ประโยชน์ทั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและชุมชนไปพร้อมๆ กัน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นี้เป็นกลุ่มที่ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงอยู่แล้ว

ด้านของการนำเข้า การนำเข้าสินค้านวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์ เช่น ศิลปะการแสดง สื่อสิ่งพิมพ์ และการออกแบบ จะสร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจเป็นอย่างมากเช่นเดียวกันโดยประโยชน์ที่ได้ก็คือ การได้รับทราบถึงความคิดใหม่ๆ ที่สามารถนำมาต่อยอดการผลิตและการลงทุนในประเทศได้ โดยการสนับสนุนการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสวัสดิการแก่ผู้บริโภคไทยให้ได้รับความสุขจากการบริโภคสินค้าทางด้านศิลปะการแสดง สื่อสิ่งพิมพ์ และการออกแบบใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย ในด้านการค้าภาคบริการ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้เชื่อมโยงผลผลิต/บริการจากชุมชนเพื่อต่อยอดไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์