posttoday

“คลังปัญญา” ที่มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชีย

15 สิงหาคม 2561

โดย .... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย .... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

จากการจัดอันดับของ Quacquarelli Symond (QS) World University Ranking และ Times Higher Education (THE) World University Ranking ในปี 2018 มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore-NUS) อยู่ในอันดับ 1 ทั้งระดับอาเซียนและเอเชีย ส่วนอันดับโลกจากการจัดอันดับของสององค์กรคือ 15 และ 22 ตามลำดับ ปัจจัยที่ทำให้ NUS ติดอันดับโลกคือความน่าเชื่อถือด้านวิชาการ งานวิจัย ผลงานวิชาการ ความเป็นนานาชาติและการเรียนการสอน แต่ที่ไม่อาจละเลยได้คือ “ห้องสมุด” ในฐานะ “คลังสมอง” พื้นฐานการเรียนรู้และต่อยอดความรู้ของนักศึกษาและบุคลากร

NUS ลงทุนหาหนังสือและแหล่งข้อมูลออนไลน์แบบทุ่มไม่อั้น หอสมุดกลางจัดตั้งในปี 1947 ในชื่อ Main Library ที่วิทยาเขต Bukit Timah ก่อนย้ายมาอยู่วิทยาเขตปัจจุบันคือ Kent Ridge และเปลี่ยนชื่อเป็น Central Library ในปี 1981 จากนั้นกระจายห้องสมุดเพิ่มเติมรวม 8 แห่งทั่วมหาวิทยาลัย หอสมุดกลางจะรวมหนังสือทุกแขนงวิชา ยังมีการตั้งห้องสมุดเฉพาะทางเช่น แพทย์ กฎหมาย ธุรกิจ ดนตรี วิทยาศาสตร์ ห้องสมุดสถาบันเอเชียตะวันออกและห้องสมุดจีนที่รักษาหลักฐานชั้นต้นสำคัญภาษาจีนและญี่ปุ่นไว้เพื่อบริการนักศึกษาและเจ้าหน้าที่กว่า 44,552 คน (สถิติปี 2017)

 

“คลังปัญญา” ที่มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเอเชีย ภาพ: หอสมุดกลาง (Central library) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์

 

ปัจจุบันห้องสมุด NUS มีหนังสือ 2.9 ล้านเล่ม e-book 7.48 แสนเล่ม วารสารออนไลน์ 58,000 ฉบับ มีฐานข้อมูลอีก 327 แห่งให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ปี 2017 สถิติผู้เข้าห้องสมุดมีมากถึง 2.49 ล้านครั้ง ดาวน์โหลด e-resource มากกว่า 10 ล้านครั้ง ห้องสมุด NUS ยังประกาศ “ภารกิจ” ว่าจะเป็น “จุดแรก” ของบุคลากรเมื่อต้องการสืบค้นข้อมูลและสร้างความร่วมมือกับห้องสมุดทั่วโลก มีเป้าหมายจะเป็นห้องสมุดที่มีความหลากหลายทางความรู้ที่สุดในอุษาคเนย์ “Biodiversity Library of Southeast Asia”

หัวใจสำคัญของห้องสมุดยังรวมถึงการให้บริการของบรรณารักษ์ โดยวางมาตรฐานบริการด้วยแนวคิดว่า “บริการด้วยรักและรอยยิ้ม (We serve with passion and a smile)” บรรณารักษ์ที่นี่จึงเป็นมืออาชีพ เท่าทันเทคโนโลยี แม้อายุมาก พวกเขากลับให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ภาพคุณลุงคุณป้าบรรณารักษ์ผมสีดอกเลาสอนวัยรุ่นใช้โปรแกรมใหม่ๆ เป็นเรื่องปรกติสำหรับที่นี่ ห้องสมุดที่นี่ยังไม่สนใจการแต่งกายของผู้ใช้บริการ

ด้วยเชื่อว่าไม่เกี่ยวกับการหาความรู้และเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราสามารถใส่รองเท้าแตะกางเกงขาสั้นไปใช้ได้แทบตลอดเวลา มีมุมดื่มกาแฟ กินขนม มุมโทรศัพท์ มีห้องประชุมงานกลุ่ม ช่วงสอบยังเปิดตลอด 24 ชม. จนเป็นสวรรค์ของหนอนหนังสือ

การบริหารจัดการห้องสมุดของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ สะท้อนว่าสิงคโปร์ลงทุนกับ “คลังสมอง” ด้วยการลดอุปสรรค จูงใจให้คนเข้าห้องสมุด ด้วยเชื่อว่านี่คือพื้นฐานในการขับเคลื่อนประเทศในเวทีระดับโลก

 

เครดิตภาพ: มรกตวงศ์ ภูมิพลับ