posttoday

ความมั่นคงทางอาหาร

09 สิงหาคม 2561

เมื่อวันที่ 2-3 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 2-3 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา ผู้แทนกรมการค้าต่างประเทศได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการสำรองอาหารเพื่อความมั่นคงแห่งภูมิภาคอาเซียน ครั้งที่ 38 (The 38th ASEAN Food Security Reserve Board: AFSRB) ในฐานะผู้แทนไทยและฝ่ายเลขานุการถาวร AFRSB ร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 8 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจาก ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve (APTERR) และ ASEAN Food Security Information System (AFSIS) ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญสถานการณ์และแนวโน้มการผลิต การบริโภค การค้า และปริมาณสต๊อกสินค้าอาหารหลักของอาเซียน 4 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด น้ำตาล และถั่วเหลือง รวมทั้งได้หารือแนวทางความร่วมมือในการลด NTMs ของประเทศคู่ค้า ซึ่งขณะนี้ EU ได้ปรับกฎระเบียบใหม่ ในการกำหนดค่าปริมาณสารตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารเคมีตกค้างในสินค้าข้าวที่เข้มงวดกว่ามาตรฐาน CODEX ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญในอาเซียน อาทิ กัมพูชา เวียดนาม และไทย โดยที่ประชุมจะนำประเด็นข้อกังวลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสของการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้ (SOM AMAF) เพื่อพิจารณาหารือในระดับสูงต่อไป

สำหรับในปี 2562 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม AFSRB ครั้งที่ 39 ซึ่งการประชุม AFSRB เป็นเวทีสำคัญของอาเซียน เนื่องจากข้อมูลที่ได้รับสามารถนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายด้านการตลาดสินค้าสินค้าเกษตรของไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เวทีดังกล่าวยังเป็นใช้เป็นกลไกสำคัญของประเทศอาเซียนในการรับมือและติดตามสถานการณ์การผลิตและความต้องการบริโภคสินค้าเกษตรของประเทศอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าข้าว ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานสำคัญในด้านความมั่นคงทางอาหารภายในภูมิภาคอาเซียน ที่ประกอบด้วยประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ไทยและเวียดนาม ขณะเดียวกันก็มีประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลก อาทิ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของประเทศอาเซียนที่ต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารในทุกมิติและเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมมือเพื่อผลักดันให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืนตลอดต่อไป

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2560 กลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ (ไม่รวมบรูไน) พบว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารสูงที่สุดในอาเซียน คือ 83.9 คะแนน รองลงมาคือ มาเลเซีย และไทย ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศลาวเป็นประเทศที่มีดัชนีความมั่นคงทางอาหารต่ำที่สุด โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 32.7 คะแนน แม้ว่าวิกฤตอาหารของโลก ยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านอุปทาน เพราะประเทศผลิตอาหารเพียงพอการบริโภคภายในประเทศ มีผลผลิตมากพอที่จะส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก สินค้าเกษตรหลายชนิดที่ไทยสามารถส่งออกได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของผลผลิตทั้งหมดและบางชนิด เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง สับปะรดกระป๋อง ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลก ส่งออกข้าวและน้ำตาล เป็นอันดับ 2 ของโลก ส่งออกกุ้งและไก่เนื้อ เป็นอันดับ 3 และ 4 ของโลกตามลำดับ เป็นต้น จนเป็นผลให้ประเทศไทยสามารถประกาศตัวเป็นครัวของโลก (Kitchen of the World) ได้ตามนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน