posttoday

น้ำมันกฤษณาสู่ตลาดโลก

21 กรกฎาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมได้รับเชิญจากสมาคมการค้าน้ำมันไม้กฤษณา (Thai Agarwood Trade Association) ตั้งอยู่ที่ 86 หมู่ 3 ต.บ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด ให้ไปดูกิจการธุรกิจน้ำมันไม้กฤษณา ซึ่งสมาคมนี้เพิ่งตั้งมา "สดๆ ร้อนๆ" ครับ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2561 มีนายกสมาคม คือ ดำ พุทธเกสร หรือ "เฮียดำ" และคุณสุวัฒนา บัณฑิตเนตร์ อุปนายกคนที่ 1 ซึ่งทั้งสองท่านนี้ได้เชิญผมไปดูกิจการของสมาคม นอกจากนี้ "เฮียดำ" ก็ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ "D.D. Oud Oil" (คนอาหรับเรียกน้ำมันกฤษณาว่า "Oud Oil") อีกด้วย

สมาคมนี้เกิดมาจากกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมไม้กฤษณาของตราด ซึ่งประกอบด้วยต้นน้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรที่ปลูกและผู้ประกอบการที่เพาะต้นกล้าไม้กฤษณา กลางน้ำเป็นกลุ่มรับเจาะ ตัดและแปรรูปเพื่อสกัดน้ำมันไม้กฤษณา และปลายน้ำเป็นผู้ประกอบการแปรรูปและนำไปขาย ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 70 ราย ไม้กฤษณาเป็นพืชเศรษฐกิจของอาเซียนเพราะปลูกในอินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย (Gaharu) ลาว และเวียดนาม มาเลเซียได้ประกาศว่าจะเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไม้กฤษณาของอาเซียน จากเดิมที่มีการซื้อขายกันที่สิงคโปร์

ไม้กฤษณามีความแตกต่างจากไม้เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ยางนา ตะเคียน และประดู่ เพราะเป็นไม้เนื้ออ่อน ปลูกไปหลายๆ ปีก็จะไม่สามารถนำไปแปรรูปเพื่อเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ เว้นเสียแต่เราเอาไปทำร้ายไม้โดยการเจาะรู ผมแบ่งตลาดต่างประเทศที่ผลิตภัณฑ์ไม้กฤษณาสามารถสร้างเงินได้ออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ตลาดหลักอยู่ที่ประเทศในตะวันออกกลาง ในซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โอมาน และอิสราเอล ซึ่งนิยมนำน้ำมันหอมกฤษณาเพราะน้ำมันไม้ศักดิ์สิทธิ์ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ รวมทั้งใช้ทาตามตัวเพื่อป้องไรทะเลทราย สำหรับกลิ่นน้ำมันกฤษณาที่ตลาดตะวันออกกลางต้องการแบ่งออกเป็น 2 กลิ่น คือ กลิ่นไม่ฉุน ซึ่งคนรุ่นใหม่ในประเทศอาหรับจะชอบ ส่วนกลิ่นสตรองหรือฉุนมาก คนมีอายุก็จะชอบ 2.กลุ่มตลาดในประเทศยุโรปที่เอาไปเป็นหัวเชื้อใส่ในน้ำหอมยี่ห้อแบรนด์ดังๆ และ 3.ตลาดในเอเชีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน เพื่อนำไปทำเครื่องสำอาง ใบไปทำชา และโลชั่นทาผิว เป็นต้น

ผลผลิตไม้กฤษณาสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นเนื้อไม้ เรียกว่า "ไม้สีดำ" เนื้อหนามีน้ำมันมาก ใช้จุดไฟ มีกลิ่นหอม ไม่แสบตา เป็นสินค้าเกรดพรีเมียมราคาสูง 5 แสนบาท/กก. ถ้าเป็นเกรด ซูเปอร์พรีเมียม ราคา 8.5 แสนบาท/กก. ส่วนที่ 2 เนื้อไม้ที่นำไปกลั่นน้ำมัน นำเนื้อไม้ไปผ่า ตากแดด นำมาบด หมักและต้ม กลั่นในกระบวนการสกัดน้ำมัน เกรดพรีเมียมราคา 3-4 แสนบาท/กก. และสุดท้ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอด เช่น สบู่ น้ำมันนวด ครีมเซรั่ม แชมพูสมุนไพร ครีมนวดผม น้ำมันนวดสมุนไพร บรรเทาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สเปรย์ฉีดเท้า และฉีดรักแร้

สำหรับราคาของน้ำมันกฤษณา เมื่อ 2 ปีที่ผ่านราคาน้ำมันกฤษณามีราคาสูงมากอยู่ที่ 3 แสนบาท/กก. หรือโตร่า (Tora) ละ 3,000-4,000 บาท โดย 1 โตร่า เท่ากับ 12 ซีซี ฉะนั้น 1 กก. เท่ากับ 80.33 โตร่า แต่ปัจจุบันราคาลดลงอย่างมากอยู่ที่โตร่าละ 1,700 บาท ทำให้กิโลกรัมละ 1.36 แสนบาทเท่านั้น

สำหรับอนาคตอุตสาหกรรมไม้กฤษณาของไทย พอจะไล่เรียงได้ดังนี้ 1.ต้องสร้างองค์กรหลักที่เป็นตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการ อาจจะตั้งเป็น "สภาอุตสาหกรรมน้ำมันกฤษณา" หรือ "สถาบันการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำมันไม้กฤษณาครบวงจร" 2.ส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยผลิตน้ำมันกฤษณาที่ไร้สารเคมีหรือสารพิษ หรือผลิตแบบธรรมชาติ 3.แก้กฎหมายผังเมืองในบางจังหวัดที่เป็นอุปสรรคในการทำเชิงพาณิชย์ 4.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและโลชั่นต้องมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรองว่ามีคุณสมบัติที่สามารถรักษาผิวพรรณและเป็นประโยชน์จริง 5.เร่งสร้างมาตรฐานและกำหนดคุณสมบัติผลิตภัณฑ์ของอุตสาหกรรมน้ำมันกฤษณาไทยให้เป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศเหมือนที่มาเลเซียทำ 6.จัดงานแสดงสินค้าไม้กฤษณาและผลิตภัณฑ์ของอาเซียนเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าตลาด 7.ประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปเข้าใจคุณประโยชน์ของกลิ่นที่ช่วยคลายเครียดและดีต่อสุขภาพ