posttoday

สิงคโปร์-มาเลเซียและการเมืองเรื่อง “น้ำ”

18 กรกฎาคม 2561

โดย ... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย ... มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภายหลังจาก ดร. มหาธีร์ บิน โมฮามัด ชนะเลือกตั้งในมาเลเซียเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ดร.เอ็มก็เดินหน้าเปลี่ยนนโยบายทั้งในและนอกประเทศของมาเลเซียอย่างถึงลูกถึงคน เรื่องหนึ่งที่สำคัญเกี่ยวข้องกับสิงคโปร์เพื่อนบ้านที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวเนื่องกันยาวนานคือ ดร.เอ็มนอกจากจะชะลอโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมมาเลเซียกับสิงคโปร์แล้ว ล่าสุดยังทบทวนสัญญาส่งน้ำดิบไปสิงคโปร์อีกด้วย

 

เรื่องนี้ใหญ่ เพราะ “น้ำ” เป็นประเด็นสำคัญมากสำหรับสิงคโปร์

ย้อนไปปี ค.ศ. 1961 ก่อนจะแยกตัวจากสหพันธรัฐมลายา (มาเลเซีย) สิงคโปร์เสนอเงื่อนไขให้มาเลเซียส่งน้ำให้ ด้วยลีกวนยู นายกฯ คนแรกของสิงคโปร์มองเห็นแล้วว่าเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะสิงคโปร์เป็นเกาะที่ทรัพยากรน้ำมีไม่เพียงพอ ในที่สุดก็เกิด “ข้อตกลงว่าด้วยน้ำ (Water Agreement)” กับมาเลเซียว่า สิงคโปร์จะใช้น้ำดิบได้อย่างไม่จำกัดจากแม่น้ำสกูได (Skudai) และ เตอเบรา (Tebrau) โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือน้ำที่ผ่านการทำเป็นทำน้ำประปาแล้วจำนวน 23% จะถูกส่งคืนให้รัฐยะโฮร์

ข้อตกลงนี้หมดอายุไปในวันที่ 31 สิงหาคม 2011 ทางการสิงคโปร์ยังได้ส่งมอบโรงงานผลิตน้ำประปาและโรงสูบน้ำในรัฐยะโฮร์ที่สิงคโปร์เดินระบบคืนให้รัฐยะโฮร์ตามข้อตกลงนี้ด้วย ปัจจุบันสิงคโปร์ยังนำเข้าน้ำดิบจากรัฐยะโฮร์ตามข้อตกลงปี 1962 ที่ยังมีผลอยู่ โดยข้อตกลงนี้อนุญาตให้สิงคโปร์ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำยะโฮร์ได้สูงสุด 250 ล้านแกลลอนต่อวัน ต้องส่งน้ำประปาคืนจำนวน 2% (5 ล้านแกลลอน) ข้อตกลงนี้จะสิ้นสุดในปี 2061 โดยเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาคือข้อตกลงฉบับนี้นั่นเอง

 

สิงคโปร์-มาเลเซียและการเมืองเรื่อง “น้ำ” ภาพ: “Marina Barrage” อ่างเก็บน้ำที่กักเก็บน้ำได้มากที่สุดของเกาะตั้งอยู่เขตกลางเมืองของสิงคโปร์

 

PUB (Public Utilities Board) คือหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการน้ำกินน้ำใช้ในสิงคโปร์ โดยน้ำที่นำเข้าจากมาเลเซียถือเป็น “Four National Taps” หรือ 1 ใน 4 ส่วนของน้ำที่ทางการสำรองไว้ใช้ กระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ระบุว่า สิงคโปร์ต้องการส่วนนี้ แม้ว่าจะมีอีก 3 ส่วนจาก 1) อ่างเก็บน้ำทั่วเกาะสิงคโปร์ 17 แห่ง 2) NEWater น้ำที่ได้จากการบำบัดจากน้ำเสียผ่านระบบรีเวิร์สออสโมซิส และเทคโนโลยีรังสีอัลตราไวโอเลตจนสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ และ 3) การกลั่นน้ำทะเล โดยแยกเกลือออกจากน้ำ

ปัจจุบันสิงคโปร์ใช้นำ 430 ล้านแกลลอนต่อวัน ใช้ในครัวเรือนราว 45% และคาดว่าความต้องการจะเพิ่มเป็น 2 เท่าในปี 2060 เรื่องน้ำจึงเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลวางแผนว่าปี 2060 สิงคโปร์จะพึ่งตนเองให้ได้มากขึ้นจาก NEWater การกลั่นน้ำทะเลที่จะกินสัดส่วนได้ 85% ของความต้องการ ซึ่งแน่นอนว่าต้นทุนจะสูงมากในการผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ยังจะสร้างอุโมงค์เก็บน้ำใต้ดิน (The Deep Tunnel Sewerage System หรือ DTSS) เพื่อเป็น “the Fifth Tap” รองรับน้ำฝนซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2022

จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลสิงคโปร์ที่จะบริหารจัดการน้ำและต่อรองกับรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียที่มีมีแนวโน้มต้องการแข่งขันกับสิงคโปร์ทางด้านเศรษฐกิจ

 

เครดิตภาพ: http://www.sharesinv.com/