posttoday

“โครงการอวกาศ” ของเวียดนาม

04 กรกฎาคม 2561

โดย ....มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย ....มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1980 พลโทฝั่ม ตวน (Pham Tuan) ชาวเวียดนาม เป็นมนุษย์อวกาศชาวเอเชียคนแรกที่ขึ้นไปอวกาศพร้อมพลตรีวิคเตอร์ วาซิลีเยวิช การ์บัตโค (Vikto Vaxilievich Gorbatko) ในภารกิจ “Soyuz 37” โครงการอินเตอร์คอสโมส์ (Intercosmos program) ของรัสเซีย โดยใช้เวลาในอวกาศ 7 วัน 20 ชั่วโมง 42 นาที

น้อยคนจะทราบว่า ในยุคสงครามเย็นเวียดนามเหนือและสหภาพโซเวียตร่วมมือกันด้านอวกาศ นอกจากความร่วมมือทางทหาร พื้นฐานเทคโนโลยีอากาศที่รัฐบาลเวียดนามได้รับถือเป็นรากฐาน ที่เวียดนามนำมาก่อตั้งโครงการศึกษาเกี่ยวกับอวกาศภายหลังสงครามเย็นสิ้นสุดโดยร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น

ในปี 2012 รัฐบาลเวียดนามสร้างศูนย์อวกาศเวียดนาม (Vietnam National Space Center หรือ VNSC) ที่กรุงฮานอย โดยเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม (Vietnam Academy of Science and Technology-VAST) ในนิคมอุตสาหกรรมหว่าหลากไฮเทค (Hoa Lac Hi-tech Park) และมีเป้าหมายว่าภายในปี 2020 จะออกแบบ ทดลอง ติดตั้งและบังคับดาวเทียมได้

ปัจจุบันเวียดนามยังก่อตั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องอีก 4 แห่ง ได้แก่ ศูนย์อวกาศเวียดนาม ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเทคโนโลยีอวกาศกรุงฮานอย หอดูดาวเมืองญาจาง ศูนย์ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ ณ นครโฮจิมินห์ ทีมวิศวกรอวกาศเวียดนามยังได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นด้านการฝึกอบรม และเงินช่วยเหลือราว 54,000 ล้านเยน โดยมุ่งเน้นส่งดาวเทียมสำรวจสภาพอากาศ ด้วยเหตุว่าเวียดนามมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลยาวนับพันกิโลเมตรทำให้ประสบอุทกภัยทุกปี

 

“โครงการอวกาศ” ของเวียดนาม ภาพ: พลโทฝั่ม ตวน และ พลตรี วิคเตอร์ วาซิลีเยวิช การ์บัตโค กับภารกิจ “Soyuz 37”

 

เวียดนามเริ่มประสบความสำเร็จ จากการสร้าง ดาวเทียม “PicoDragon” ดาวเทียมดวงแรกที่“เมดอินเวียดนาม” คือวิจัยและผลิตโดยวิศวกรเวียดนาม หนักเพียง 1 กิโลกรัม มีขนาด 10x10x11.35 เซ็นติเมตร และปล่อยขึ้นไปยังอวกาศตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งมีความสามารถในการถ่ายภาพมายังโลกและดำเนินการทดลองการสื่อสารโดยใช้อุปกรณ์วิทยุ

ปลายปี 2018 นี้ ดาวเทียมที่ 36 วิศวกรชาวเวียดนามซึ่งไปศึกษาที่ญี่ปุ่นสร้าง ชื่อ “ไมโครดรากอน (Micro Dragon)” จะถูกใช้สำรวจโลกหลังจากได้รับการติดตั้งกับจรวด Epsilon ของญี่ปุ่น ดาวเทียมดวงนี้มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม มีขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ภารกิจหลักคือดูความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งเวียดนาม คุณภาพน้ำเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในอนาคตเวียดนามยังวางแผนจะสร้างดาวเทียม LOTUSat-1 และ LOTUSat-2 ด้วยเทคโนโลยีเรดาร์ขั้นสูงซึ่งหนักถึง 600 กิโลกรัม และน่าจะใช้งบประมาณสำหรับโครงการถึง 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมุ่งเน้นภารกิจสำรวจการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศรวมไปถึงการเตือนภัยธรรมชาติ

ทางการเวียดนามวางแผนพัฒนาในรอบ 5 ปี (ระหว่าง 2017-2022) เน้นที่การพัฒนาการผลิตดาวเทียมด้วยหวังว่าจะได้เป็นผู้นำเทคโนโลยีดาวเทียมของอาเซียน อย่างไรก็ตามเวียดนามยังมีข้อจำกัดทั้งคุณภาพและจำนวนผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น นอกจากรัฐบาลจะส่งนักศึกษาและนักวิจัยเพื่อไปศึกษาต่อเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศในต่างประเทศ ยังได้สร้างหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรจากมหาวิทยาลัยในเวียดนามด้วย ตอนนี้ เวียดนามจึงเป็นประเทศที่ไม่เพียงแต่น่าจับตามองทางเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศที่มากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน

 

เครดิตภาพ: http://img.khoahoc.tv/