posttoday

ปาล์มน้ำมันไทย-มาเลย์

29 มิถุนายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผมได้ลงไปเก็บข้อมูลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ จ.กระบี่ โดยผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.เอนก ลิ้มศรีวิไล ผู้เชี่ยวชาญปาล์มน้ำมัน พันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานสภาเกษตรกร จ.กระบี่ และชโยดม สุวรรณวัฒนะ นักธุรกิจและเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน จ.กระบี่ ถือได้ว่าเป็น "เมืองหลวงปาล์มน้ำมันของไทย" เพราะปี 2560 กระบี่มีผลิตผลปาล์ม 3.3 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 23% ของผลผลิตทั้งประเทศ (14.2 ล้านตัน) หากรวมกับผลผลิตปาล์มของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่มีอยู่ 3.4 ล้านตัน ทำให้ผลผลิตของ 2 จังหวัดนี้คิดเป็นเกือบ 50% ของผลผลิตทั้งประเทศ

ปัจจุบันมีคนถามผมบ่อยว่า "ระหว่างยางพารากับปาล์ม ควรจะปลูกอะไรดี" ผมขอตอบว่า "พืชทั้งสองมีความเสี่ยงทั้งคู่" วิธีที่จะทำให้ลดความเสี่ยงทั้งยางและปาล์มคือการปลูกพืชอื่นผสมผสานเข้าไป นอกจากนี้หากต้องการให้ปาล์มน้ำมันทั้งระบบมีทิศทางที่สดใส มีหลายประเด็นที่น่าสนใจครับ ปัจจุบันมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็น 2 ประเทศที่ให้พื้นที่ปลูกปาล์มมากสุดรวมแล้วคิดเป็น 70% ของพื้นที่ปลูกทั้งโลก (อินโดนีเซีย 42% มาเลเซีย 28%) ในขณะที่ประเทศไทยมีพื้นที่ให้ผลผลิตเพียง 3.6% เท่านั้น ผมคิดว่าสิ่งที่เราต้องทำมีอยู่ 6 เรื่องหลัก หรือเพื่อลดความเสี่ยงสำหรับอนาคตปาล์มน้ำมันของไทย ซึ่งในหลายเรื่องการบริหารจัดการของมาเลเซียทำได้ดีมาก

ผมขอเริ่มจาก 1.ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่ต้องการปริมาณน้ำมาก ต้นปาล์ม 1 ต้นต้องการน้ำ 250 ลิตร/วัน ฉะนั้นปาล์มที่ปลูกจึงต้องมีปริมาณน้ำฝน 2,000-2,400 มิลลิเมตร (มม.) ต่อปี พื้นที่เหมาะสมจึงเป็นทางใต้และภาคตะวันออก ภาวะโลกร้อนจึงเป็นประเด็นใหญ่มากสำหรับอนาคตปาล์ม 2.เปอร์เซ็นต์การให้น้ำมัน (Oil Extraction Rate : OER) เป็นค่าที่บอกถึงความสามารถการให้น้ำมันปาล์มของผลปาล์ม ปี 2559 OER ของไทยอยู่ที่ 17% มาเลเซีย 21% (อีก 3 ปีข้างหน้า OER ของมาเลเซียจะเป็น 23%) และอินโดนีเซีย 22% ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันเยอะว่าจริงๆ แล้ว OER ของไทยและในแต่ละจังหวัดภาคใต้เป็นเท่าไรกันแน่ ผมเสนอว่าเราควรมีเครื่องมือตรวจ OER หรือเครื่องสแกนกลางของไทยว่ามี OER เท่าไรกันแน่ เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย 3.ต้องคำนวณโครงสร้างราคาผลผลิตปาล์มใหม่ มาเลเซียคิดคำนวณราคาผลปาล์มจาก 2 ส่วน คือ จากส่วนที่เป็นเปลือกหุ้มภายนอก (Mesocarp) ซึ่งให้น้ำมันที่เรียกว่า "Crude Palm Oil : CPO" และจากเนื้อในของเมล็ด (Kernel) เรียกว่า "Crude Palm Kernel Oil : CPKO" ในขณะที่ประเทศไทยคิดราคาปาล์มจากเปลือกหุ้มภายนอกเท่านั้น 4.ร่าง พ.รบ.ปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปาล์มน้ำมัน พ.ศ. .. ร่าง พ.ร.บ.นี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปาล์มฝากความหวังไว้กับร่าง พ.ร.บ.อย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกร

ผมมีโอกาสได้อ่านร่าง พ.ร.บ. ความคิดเห็นส่วนตัวของผมคิดว่ายังไม่ครอบคลุมปาล์มและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่จำกัดความของเกษตรกรยังไม่ละเอียด ไม่กำหนด OER ของประเทศว่าควรเป็นเท่าไร และไม่กำหนดอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเป้าหมายที่ควรส่งเสริม แต่ส่วนดีที่คือการตั้งกองทุนปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมเกษตรกร 5.ทิศทางการพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ซึ่งมีทั้ง "ยุทธศาสตร์การปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทั้งระบบ 2560-2570" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ยุทธศาสตร์ปาล์ม 20 ปี" มีเรื่องดีๆ อยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่า "น่าคิด" คือการกำหนด OER จาก 17% ในปี 2559 เป็น 22% ในช่วงปี 2560-2569 และ 23% ในปี 2570-2579 การกำหนดการเพิ่มขึ้นของ OER ถือว่าถูกต้อง แต่ช่วงของระยะเวลานั้นนานเกินไป เมื่อเทียบกับของมาเลเซียที่กำหนดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะกำหนดให้ OER เป็น 23%

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน้ำมันก็มียุทธศาสตร์เช่นกัน แต่การกำหนด OER นั้นไม่ไปในทิศทางตามช่วงของเวลาที่ไม่เหมือนกัน ถ้าผมเป็นเกษตรกร เมื่ออ่านแล้วก็คงไม่รู้ว่าจะยึดของใครเป็นหลัก และสุดท้ายประเทศไทยต้องมี "เจ้าภาพปาล์มน้ำมัน" ที่ชัดเจนเพื่อดูแลและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ ผมขอนำเสนอตั้ง "สถาบันนโยบายและพัฒนาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติ (National Policy and Development of Institute for Oil Palm and Palm Oil) "สนป." ในรูปแบบองค์กรมหาชน มีคณะกรรมการและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาบริหารจัดการครับ