posttoday

สงครามการค้าโลก

22 มิถุนายน 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช   ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

บทความฉบับนี้เป็นฉบับต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว เรื่อง "สงครามการค้าเหล็ก" แต่ต้องปรับชื่อบทความใหม่ เพราะล่าสุดไม่ใช่เฉพาะเหล็กเท่านั้นที่สหรัฐเก็บภาษี

เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิ.ย. 2561 (หลังการประชุม คิมจองอึน-ทรัมป์ ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2561) ทรัมป์ประกาศว่าจะเก็บภาษีสินค้า ของจีน 25% จำนวน 1,102 รายการ แบ่งเป็น 818 รายการ ได้แก่ เครื่องจักรและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ อากาศยานและแบตเตอรี่ มูลค่า 34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลบังคับใช้วันที่ 6 ก.ค. 2561 และอีก 284 รายการ (ยังไม่กำหนดวันบังคับใช้) เซมิคอนดักเตอร์ กลุ่มสินค้าเทคโนโลยีตาม "Made in China 2025" มูลค่ารวมทั้งหมด 50 ล้านดอลลาร์หลังการประชุมร่วมกัน 3 ครั้ง จีนรับปากว่าจะซื้อสินค้าเกษตรของสหรัฐ เพิ่มขึ้นอีก 70 ล้านดอลลาร์ แต่เพื่อเป็นการตอบโต้ทางการค้า จีนก็เก็บภาษีสินค้าเกษตร 25% จำนวน 545 รายการ กับสหรัฐ มูลค่า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และสินค้าประมง และ 114 รายการ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ สหรัฐมีแผนจะเก็บภาษีรถยนต์และชิ้นส่วน ในขณะที่แคนาดาเก็บภาษีผลิตภัณฑ์นมจากสหรัฐ 270% (ไม่อยู่ในข้อตกลง NAFTA) ขณะที่ประเทศคู่ค้าอื่นๆ ก็ตอบโต้ทางการค้ากับสหรัฐ โดยการเก็บภาษีนำเข้าอัตราที่เท่าเทียมกับที่สหรัฐเก็บเช่นกัน ผมก็เริ่มจากเหล็กก่อนครับ เหล็กสหรัฐได้รับการปกป้องจากผู้นำมาโดยตลอด อดีตประธานาธิบดี โอบามาที่ได้ออกกฎหมาย "Trade Facilitation and Trade Enforcement Act of 2015" เพื่อให้อำนาจกรมศุลกากรในการตรวจสอบเหล็กที่ เข้ามาในสหรัฐว่ามีการบิดเบือนราคาหรือไม่ รวมทั้งเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 266-522% จากจีน ทางออกตอนนั้นคือ จีนตกลงที่จะลดการผลิตเหล็กลงเหลือ 150 ล้านตัน ใน 5 ปีข้างหน้า

ปี 2558 จีนผลิตเหล็ก 803 ล้านตัน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากมากที่จะลดกำลังการผลิตลงมากขนาดนั้น มาถึงทรัมป์ได้ใช้มาตรา 232 อ้างว่ามีผลต่อ "ความมั่นคงของชาติ" หมายถึงความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ทางทหารคือ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทางทหาร ซึ่งเหล็กเป็นหนึ่งในวัตถุดิบ ส่วนทางเศรษฐกิจคือความมั่นคงต่ออุตสาหกรรมเหล็กทั้งระบบ ปี 2560 การนำเข้าเหล็กของสหรัฐ 26.8 ล้านตัน นำเข้ามาจากแคนาดาสัดส่วน 17% จากบราซิล 14% เกาหลีใต้ 10% ญี่ปุ่น 5% เม็กซิโก 9% เยอรมนี 4% และจีน 2% ในอาเซียน สหรัฐนำเข้ามาจากเวียดนามมากสุด 0.7 ล้านตัน สัดส่วน 2% และไทย 0.4 ล้านตัน สัดส่วน 1% การนำเข้าเหล็กสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 36 ล้านตัน

ระหว่างปี 2554 กับ 2560 และเวียดนามก็เป็นประเทศที่มีการส่งออกเหล็กไปสหรัฐเพิ่มขึ้น 506% ไทยเพิ่มขึ้น 478% ผลการเก็บภาษีนำเข้าผู้นำและผู้แทนประเทศคู่ค้ากับสหรัฐไม่พอใจอย่างมาก เช่น ประธาน ยุโรป Jean-Clude Juncker นี้คือ "สิ่งที่รับไม่ได้" ประธานาธิบดีฝรั่งเศส "ผิดกฎหมาย" รัฐมนตรีเศรษฐกิจเม็กซิโก "ขอประณามสหรัฐ"

รวมทั้งการประชุมรัฐมนตรีคลังชาติ จี7 ออกแถลงการณ์กดดัน สหรัฐให้หาทางออก ประเด็นที่จะเกิดขึ้น 1.ผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งภายในสหรัฐที่เสี่ยงต่อการว่างงาน ราคาวัตถุดิบเหล็กและต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคสหรัฐต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้น 2.ถูกตอบโต้ทางการค้าจากประเทศที่สหรัฐเก็บภาษีเหล็ก 3.เป็นโอกาสของสินค้าอาเซียนที่เข้าไปขายในตลาดคู่ค้าของสหรัฐ 4.โอกาสถูกฟ้องจาก WTO สูง 5.ติดตามการเก็บภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ 25% ที่คาดว่า จะออกมาในอนาคต จากปัจจุบันที่เก็บ 2.5% 6.มีการคาดการณ์ว่ากรณีเหล็กและอะลูมิเนียมทำให้ GDP โลกลดลงจาก 2.9 เหลือ 2.2% ลดลงไป 0.7% ในระยะ 4 ปีข้างหน้า 7.ทรัมป์ประกาศว่าจะขึ้นภาษีจีนอีก 2 แสนล้านดอลลาร์

ผมสรุปว่ามีผลต่อไทย 3 เรื่อง 1.ไทยส่งออกเพิ่มจากทั้งสองประเทศเก็บภาษี 2.ผลลบต่อห่วงโซ่การผลิตไทย และ 3.ผลลบสินค้าทั้งสองประเทศเข้ามาในไทย ซึ่งพบว่ายังมีผลบวกมากกว่าผลลบอยู่ 2 หมื่นล้านบาท เว้นเสียแต่ว่าหากไทยจะถูกเก็บภาษีเช่นกันผลกระทบจะเป็นอีกแบบ หนึ่งครับ