posttoday

'วีแกน' ในศตวรรษที่ 21

20 มิถุนายน 2561

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในปี 1572 กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 แห่งสเปน ส่งกัปตันฮวนเดอซาลเซโด (Juan de Salcedo) มาสำรวจชายฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ ในการสำรวจครั้งนี้เป็นเหตุของการสร้างเมืองท่าแห่งหนึ่งทางด้านตะวันตกบนเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ชื่อ “วีแกน
(Vigan)” ที่มาจากชื่อเต็มว่า “Villa Fernandina de Vigan” เพื่อเป็นเกียรติแด่กษัตริย์ฟิลิปที่ 2 ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในจังหวัดอิโลโกสซูร์ (Ilocos Sur) ของฟิลิปปินส์

ก่อนหน้านักสำรวจสเปนจะมาถึง ที่นี่มีสถานะเป็นจุดจอดเรือสำเภาจีนที่สัญจรไปมาในทะเลจีนใต้ นานเข้าก็มีผู้คนหลากหลายมาตั้งถิ่นฐาน พ่อค้าจีนลงหลักปักฐานแต่งงานกับคนท้องถิ่นจนเกิดทายาทเลือดผสม (ลูกครึ่ง) เมื่อสเปนยึดฟิลิปปินส์ คนเชื้อสายสเปนก็มาผสมผสานกับคนที่นี่เพิ่มเข้าไปอีก และเกิดสถาปัตยกรรมแบบยุโรปขึ้นจำนวนมากในเมืองนี้

เมื่อยุครุ่งเรืองแห่งการค้าทางทะเลจบลงวีแกนก็กลายเป็นเมืองธรรมดา เหลือแต่มรดกและร่องรอยอดีต

2 ธ.ค. 1999 “วีแกน” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก เนื่องจากเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เป็นเมืองอดีตอาณานิคมที่มีการดูแลรักษาสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่ผสมผสานเอกลักษณ์เอเชียกับยุโรปที่เป็นเอกลักษณ์ สะท้อนความเป็นเมืองท่าที่เชื่อมการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เทียบกับเมืองอดีตอาณานิคมแห่งอื่น สถาปัตยกรรมในวีแกนมีกลิ่นอายสเปนมากกว่าชาติตะวันตกอื่นๆ มีโบสถ์อายุหลายร้อยปีหลายแห่ง บ้านช่องยังคงถูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนรุ่นปัจจุบัน บ้านหลายหลังได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องราวที่สะท้อนส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ เช่น บ้านของอดีตวุฒิสมาชิกคนสำคัญที่เป็นชาวเมืองนี้ เป็นต้น

การเดินทางจากมะนิลามาถึงวีแกนทำได้ 2 ทาง คือ ขึ้นเครื่องบินไปลงที่จังหวัดใกล้เคียงทางด้านเหนือแล้วต่อรถเข้าวีแกน อีกทางคือนั่งรถประจำทางตรงจากมะนิลาซึ่งกินเวลา 7-8 ชั่วโมง

ตึกสวยๆ ส่วนมากจะรวมกันอยู่ที่ถนนกลางเมืองที่เคยเป็นย่านเศรษฐกิจและเป็นบ้านของผู้มีฐานะ ถนนในย่านนี้ปูด้วยหิน เทศบาลวีแกนอนุญาตเฉพาะรถม้า จักรยาน และการเดินเท้าบนถนนเหล่านี้เท่านั้น เพื่อรักษาสภาพโครงสร้างย่านกลางเมืองวีแกนตอนนี้เต็มไปด้วยธุรกิจจัดทัวร์เล็กๆ ธุรกิจทอผ้า ธุรกิจทำเครื่องปั้นดินเผา อาหารท้องถิ่นที่เลื่องชื่อของที่นี่คือ ลองกานิซ่า (Longanisa) หรือไส้กรอกที่มีหน้าตาคล้ายไส้กรอกอีสานของไทย อาหารการกินหลายอย่างสะท้อนร่องรอยวัฒนธรรมร่วมของภูมิภาค เราจะพบทั้งกะละแม ข้าวหลาม และขนมอีกหลายชนิดเช่นเดียวกับในไทย

วีแกนเป็นเมืองเล็ก เวลามีงานในเมืองคนจะออกมารวมกัน โดยเฉพาะลานน้ำพุกลางเมืองที่มีอนุสาวรีย์โฮเซ่ริซาลวีรบุรุษแห่งชาติ เพื่อทำกิจกรรมครอบครัวร่วมกัน

แม้วันนี้วีแกนจะหนีกระแสการท่องเที่ยวไม่ได้ แต่เทศบาลก็พยายามรักษาสภาพเมืองโดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนล่าสุดวีแกนยังได้รับเลือกเป็น “7 เมืองมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่”

ในศตวรรษที่ 21 ที่นี่ยังเป็นเมืองมรดกโลกที่มีชีวิตชีวาและรักษาวิถีของตัวเองเอาไว้ได้ แม้บางอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยก็ตาม

 

เครดิตภาพ : มรกตวงศ์ ภูมิพลับ