posttoday

มะม่วงปลาตะเพียน

25 พฤษภาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

เมื่อเดือนที่ผ่านมา คุณพงษ์เกียรติ กุศลศิลป์วุฒิ จากสถาบันวิทยาการศุลกากร กรมศุลกากร ได้นำ "มะม่วงปลาตะเพียน" มาฝาก ผมเห็นว่าเป็นมะม่วงที่ผม ไม่เคยรู้จักมาก่อน และชื่อเสียงก็ไม่เหมือนใคร "ทำไมชื่อปลากลายเป็นชื่อมะม่วง" ก็เลยลงไปเก็บข้อมูลที่สวนมะม่วงปลาตะเพียนที่สวนบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร แต่ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดของมะม่วงปลาตะเพียนผมขอนำท่านไปรู้จักกับ "ใครเป็นใครในตลาดมะม่วงโลก" ก่อนนะครับ

ในปี 2559 ประเทศอินเดีย เป็นผู้ผลิตมะม่วงมากสุดของโลกจำนวน 19 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 40 ของการผลิตทั้งหมดของโลก (ประเทศในแถบเอเชียใต้เป็นแหล่งกำเนิดมะม่วงของโลก แล้วค่อยๆ ขยายไปในอาเซียน) ตามด้วยผลผลิตของจีน (5 ล้านตัน) และไทย 3.3 ล้านตัน ในอาเซียนไทยเป็นผู้ผลผลิตสูงสุด ตามด้วยอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีมะม่วงของเมียนมาที่กำลังเป็นที่รู้จักของตลาดจีน ญี่ปุ่น รัสเซีย และยุโรป คือมะม่วง "เซ่ง ตา รง (Sein Tha Lone)" ซึ่ง "Sein" คือ เพชร และ "Tha Lone" คือ หนึ่ง

สำหรับประเทศไทยตามข้อมูลมะม่วงที่ผมมีจำนวน 19 ชนิด คือ แก้วลืมรัง แก้ว เขียวเสวย ขาวนิยม เขียวมรกต งามเมืองย่า โชคอนันต์ ทองดำ นวลจันทร์ น้ำดอกไม้ พิมเสนเปรี้ยว เพชรบ้านลาด ฟ้าลั่น มหาชนก ยายกล่ำ แรด หนองแซง หนังกลางวัน และอกร่อง ในช่วงระหว่างปี 2555-2560 พื้นที่ปลูกมะม่วงทั้ง 19 ชนิด ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 8 แสนไร่เหลือ 7 แสนไร่ ยกเว้นพื้นที่ปลูกของมะม่วงโชคอนันต์และน้ำดอกไม้ที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนพื้นที่ปลูกร้อยละ 36 เป็นน้ำดอกไม้ ตามด้วยเขียวเสวยร้อยละ 16 แก้วร้อยละ 8 และโชคอนันต์ร้อยละ 9 เป็นต้น

ส่วนผลผลิตก็ลดลงเช่นกัน จาก 8 แสนตัน เหลือ 4 แสนตัน ซึ่งผลผลิตร้อยละ 34 มาจากน้ำดอกไม้ สำหรับราคามะม่วงที่เกษตรกรขายในปี 2561 ตกต่ำในรอบ 10 ปี น้ำดอกไม้ต่ำกว่า 20 บาท/กก. (ปี 2559 ราคา 40 บาท/กก.) ฟ้าลั่น 10 บาท/กก. (ปี 2559 ราคา 24 บาท/กก.) และบางชนิดไม่ถึง 10 บาท/กก. เช่น เขียวเสวยและเพชรบ้านลาด (ข้อมูลจากสุภาพ สุธรรม เกษตรกรใน อ.วังทอง จ.พิษณุโลก) ผลของราคาตกต่ำมีเกษตรกรจาก จ.ลำพูน นำมะม่วงมาเททิ้งไว้เยอะมาก เพราะ จ.ลำพูน เป็นแหล่งปลูกมะม่วงรองที่ตลาดไม่ต้องการมากเท่ากับมะม่วงน้ำดอกไม้

เหตุผลที่ทำให้ราคาปีนี้ตก เพราะ 1.ผลผลิตออกมาเยอะและมีการส่งมะม่วงอ่อนไปต่างประเทศ ทำให้ต่างประเทศไม่รับซื้อ 2.สภาพอากาศแปรปรวนทำให้ได้ผลผลิตไม่ได้ตามที่ตกลงกับผู้ซื้อ 3.มะม่วงแก้วขมิ้นจากกัมพูชาเข้ามาเยอะ ผมมีโอกาสไปเก็บข้อมูลสวนมะม่วง 2 ที่ คือ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร กับสวนเกษตรแปลงใหญ่ที่ จ.สุพรรณบุรี (ผู้ใหญ่สมเดช แตงวงศ์) สวนมะม่วงของคุณพงษ์เกียรติ กุศลศิลป์วุฒิ ที่ อ.บ้านแพ้ว ปลูกบนพื้นที่ 26 ไร่ เป็นมะม่วง 2 ชนิด คือ มะม่วง ฟ้าลั่น 400 ต้น และมะม่วงปลาตะเพียน 600 ต้น ปลูกมาประมาณ 10 กว่าปี มะม่วงปลาตะเพียนเป็นมะม่วงพันธุ์ดั้งเดิมโบราณของบ้านแพ้ว แต่ละพื้นที่จะเรียกชื่อไม่เหมือนกัน เช่น จ.สมุทรสงคราม จะเรียกว่า มะม่วงอกร่องพิกุล จังหวัดอื่นๆ ก็จะมีชื่อเฉพาะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่คนนอกพื้นที่จะไม่ค่อยรู้จัก จะรู้จักกันเฉพาะในพื้นที่ อ.บ้านแพ้ว และปลูกมากบริเวณ อ.บ้านแพ้ว

ลักษณะเด่นของมะม่วงปลาตะเพียน คือ รูปทรงแบน ตรงกลางป่อง ลูกดก และรสชาติไม่เปรี้ยวจี๊ด เมื่อผลยังไม่สุกจะนิยมเอาไปทำยำและดอง มะม่วงปลาตะเพียน 1 ต้น จะพบผลที่เป็นกะเทย (ผลเล็กๆ) ที่สลัดหลุดจากต้นประมาณ 70% มะม่วงปลาตะเพียน นิยมทานผลดิบมากกว่าผลสุก มีการนำผลกะเทยไปดอง ส่วนผลสุก ถ้าสุกจะมีรสชาติคล้ายอกร่อง แต่ความหวานสู้อกร่องไม่ได้ แต่เนื้อมะม่วงที่ได้จะเยอะกว่ามะม่วงอกร่อง แต่ถ้าเทียบกับน้ำดอกไม้ น้ำดอกไม้ก็จะหวานกว่า แต่ก็สามารถนำไปกินกับข้าวเหนียวมูลได้เช่นกัน

ก่อนหน้านี้ คุณณพงษ์เกียรติเริ่มปลูกมะม่วงปลาตะเพียนเมื่อปี 2550 ขณะนั้นใน อ.บ้านแพ้ว มีเพียงจำนวน 100 ไร่ ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ไร่ ผลผลิต 1 หมื่นตัน ในฤดูกาลเดิมราคา 8 บาท/กก. นอกฤดูราคา 25 บาท/กก. ต่อมามีคนเห็นว่าราคาดีเลยปลูกกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ราคามะม่วงปลาตะเพียนตกต่ำ ในฤดูกาลผลดิบราคา 3 บาท/กก. นอกฤดูผลดิบราคา 20 บาท/กก. เมื่อรวมปัญหาของมะม่วงทั้ง อ.บ้านแพ้ว และ จ.สุพรรณบุรี พบว่า 1.มีผลผลิตจำนวนมาก ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ 2.ต้นทุนการผลิตสูงกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำมะม่วงนอกฤดู 3.ขาดการแปรรูป อย่างไรก็ตามมะม่วงปลาตะเพียนมีข้อจำกัด เนื่องจากสีขาวซีดไม่สวยเหมือนแก้วขมิ้น 4.ไม่รู้ตลาดต่างประเทศว่าจะขายที่ไหน ข้อเสนอแนะเพื่อหาทางออก 1.ต้องบริหารจัดการด้านการผลิต จำกัดพื้นที่การปลูก จัดโซนพื้นที่ปลูกมะม่วงแต่ละชนิด 2.จัดทำเรื่องมาตรฐาน มี GAP 3.การทำแพ็กเกจจิ้งบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม 4.การสร้างแบรนด์ 5.การจำหน่ายออนไลน์ และ 6.สำหรับมะม่วงปลาตะเพียนควรขึ้น GI ครับ