posttoday

ข้อสรุปยางพาราไทยกับมาเลเซีย

11 พฤษภาคม 2561

เปรียบเทียบยางพาราไทยกับมาเลเซียทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช  ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมต้องเปรียบเทียบยางพาราไทยกับมาเลเซียทั้งระดับต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ให้กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยจึงขอนำเสนอบทสรุปย่อๆ ดังนี้ครับ

1.ไทยขยายพื้นที่เพาะปลูกแต่มาเลเซียลดลง ปี 2559 ไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 23.3 ล้านไร่ เพิ่มจากปี 2550 ที่มีอยู่ 18 ล้านไร่ ขณะที่มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกยางพาราลดลงจาก 8.2 ล้านไร่ ในปี 2550 เหลือเพียง 6.2 ล้านไร่ ในปี 2558 เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา

พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นจาก 28 ล้านไร่ ในปี 2550 เป็น 36 ล้านไร่ ในปี 2559 นอกจากนี้การทำสวนยางพาราของมาเลเซียในปัจจุบัน มีต้นทุนในการผลิตยางพาราที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ขณะเดียวกันก็เกิดการขาดแคลนแรงงานที่ใช้ในการกรีดยาง ซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีเป็นหลัก

2.ผลผลิตไทยเพิ่ม มาเลเซียลดลง ประเทศไทยสามารถผลิตยางพาราได้ 4.5 ล้านตัน ในปี 2560 และในปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.9 ล้านตัน เมื่อพิจารณาผลผลิตยางพาราของไทยตั้งแต่ปี 2550-2559 พบว่า ก่อนปี 2550 ผลผลิตยางพาราอยู่ต่ำกว่า 3 ล้านตัน ในปี 2551 เพิ่มเป็น 3.2 ล้านตัน และในปี 2559 เพิ่มเป็น 4.4 ล้านตัน ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตยางพาราในบางปีเพิ่มขึ้น 1 แสนตัน แต่บางปีเพิ่มขึ้น 4 แสนตัน และตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ผลผลิตยางพาราเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 ล้านตัน และตลอด 20 ปีของยุทธศาสตร์พบว่า ผลผลิตยางพาราของไทยเพิ่มขึ้นเกินเป้าหมายที่วางไว้ เช่น ยุทธศาสตร์ยางพาราปี 2552-2556 กำหนดว่า ผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มจาก 3.09 ล้านตัน ในปี 2551 เป็น 3.04 ล้านตัน ในปี 2556 แต่เมื่อไปดูข้อมูลจริงพบว่า ผลผลิตที่เกิดขึ้นนั้นเกิน เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยผลิตน้ำยางสดร้อยละ 17.8 ยางก้อนถ้วยร้อยละ 72.0 และยางแผ่นดิบร้อยละ 10.2 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ต้นน้ำของมาเลเซีย คือ น้ำยางสดและยางก้อนถ้วย โดยสัดส่วนผลผลิตน้ำยางสดคิดเป็นร้อยละ 6 และยางก้อนถ้วย ร้อยละ 94

3.จำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยมากกว่ามาเลเซีย ปี 2559 ครัวเรือนเกษตรกรยางพาราจำนวน 1.4 ล้านครัวเรือน ลดลงจากปี 2557 ที่มีครัวเรือนเกษตรกรยางพาราอยู่ที่ 1.6 ล้านครัวเรือน แบ่งเป็นเกษตรกรรายเล็กถือขนาด 2-50 ไร่ กลาง 51-250 ไร่ และใหญ่มากกว่า 250 ไร่ขึ้นไป ครัวเรือนเกษตรกรมาเลเซียมีจำนวน 5 แสนครัวเรือน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ เกษตรกรรายย่อยกับเกษตรกรรายใหญ่ ซึ่งเกษตรกรยางพารารายย่อยทั้งของมาเลเซียและไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 90 มีขนาดการถือครองที่ดินเฉลี่ย 100 ไร่/ครัวเรือน

4.การดูแลเกษตรกรรายย่อยมาเลเซียแตกต่างจากไทย การบริหารจัดการยางพาราของมาเลเซียได้แบ่งหน่วยดูแลเกษตรกรรายย่อย เช่น องค์กรพัฒนาที่ดินแห่งรัฐ (FELDA) องค์กรฟื้นฟูที่ดินแห่งรัฐ (FELCRA) องค์กรพัฒนาเกษตรกรรายย่อยเพื่อการลงทุนยางพารา (RISDA) สภา ส่งเสริมการส่งออกยางพารา (MREPC) 5.มีสถาบันวิจัยยาง หรือในอังกฤษชื่อว่า "Tun Abdul Razak Research Center : TARRC" ตั้งปี 1938 เป็นสถาบันที่ทำวิจัยเรื่องยางให้กับคณะกรรมการยางมาเลเซีย (MRB) อย่างเดียว และเงินทุนทั้งหมดมาจากรัฐบาลมาเลเซีย

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์เพาะพันธุ์ยางมาเลเซีย (MRBC) ตั้งที่เมือง Bintulu รัฐซาราวัก เมือง Kota Tinggi รัฐยะโฮร์ และรัฐเคดะห์ เพื่อพัฒนายางพันธุ์ใหม่ ขณะที่ประเทศไทยมีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบมาเป็นหน่วยงานเดียวดูแล ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) โดยรวม 3 หน่วยงานเข้าด้วยกัน คือ สถาบันวิจัยยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง และองค์การสวนยา ยังมีข้อสรุปอีกหลายอย่างครับ ไว้อ่านในรายงานวิจัยฉบับเต็มครับ