posttoday

จ่าซือ (Tra' SU' Cajuput Forest) และ “อานซาง” (An Giang)

09 พฤษภาคม 2561

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้ชื่อว่าเป็น “ชามข้าว (rice bowl)” ของเวียดนามด้วยความอุดมสมบูรณ์ของดินปากแม่น้ำโขงที่ทำให้สามารถทำนาได้ปีละ 3 ครั้ง และปลูกพืชผักผลไม้ได้สารพัดชนิด พื้นที่นี้ยังมีคนหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกันจำนวนมาก คือ เวียดนาม จีน กัมพูชา และจาม นับถือศาสนาต่างกัน 11 ศาสนา

จังหวัดอานซาง (เรียกตามสำเนียงภาษาเวียดนามภาคใต้คือ “อานยาง”) อยู่บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันตกของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เป็นพื้นที่ที่กำลังจะถูกดึงศักยภาพการท่องเที่ยวออกมา หลังจากจังหวัดใกล้เคียงอย่าง เกียนซางและนครเกิ่นเทอได้ทำไปก่อนแล้วและประสบความสำเร็จ ตามสถิติของทางการ ในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวมาอานซาง 7.3 ล้านคน ส่วนมากเป็นคนเวียดนามเอง มีเพียง 75,000 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เมื่อต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ทางจังหวัดเพิ่งเป็นเจ้าภาพรับรองการประชุมวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับ การพัฒนา การท่องเที่ยวและความยั่งยืน “Touring Vietnam: Exploring Development, Tourism and Sustainability from Multi-Disciplinary and Multi-Directional Perspectives” ระดมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาวางแผนการท่องเที่ยวโดยจะดึงจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและทรัพยากรขึ้นมาใช้

ด้านหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากคือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยังเป็น “unseen” ของที่นี่ เช่น ป่าชายเลนจ่าซือ (Tra' SU' Cajuput Forest) ที่เต็มไปด้วยต้นเสม็ดขาว (Cajuput) แหล่งผลิตน้ำมันหอมระเหย ผลิตภัณฑ์สำคัญของอานซาง ป่าที่ว่านี้อยู่ในเขตติ่งห์เบียนห่างจากเมืองเจิวด๊ก จังหวัดอานซาง 17 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนเวียดนาม-กัมพูชาเพียง 10 กิโลเมตร ในช่วงสงครามเวียดนามที่กินเวลายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จ่าซือได้รับความเสียหายจากลูกระเบิด ผู้คนอพยพออกไปหมดเพราะเป็นพื้นที่สู้รบ หลังสงครามในปี 1983 จึงเริ่มมีการอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ ตัดแบ่งพื้นที่เป็น เขตจับปลา เขตสงวนพันธุ์สัตว์ (มีนกหายากกว่า 70 ชนิด) ที่เปิดรับนักท่องเที่ยว เขตสุดท้ายคือที่อยู่ของค้างคาว

การไปชมจ่าซื้อแบบใกล้ชิดทำได้ทางเดียวคือนั่งเรือ โดยเรือจะพานักท่องเที่ยวผ่านบึงที่เต็มไปด้วยดอกบัวสีขาวและชมพู อุโมงค์ต้นไม้ ระหว่างทางยังจะเห็นนกนานาชนิด และมีหอคอยสำหรับชมพื้นที่ในมุมสูง ที่นี่เข้าชมได้เกือบทั้งปียกเว้นในฤดูฝนซึ่งระดับน้ำจะสูง ​

​รัฐบาลเวียดนามทราบดีว่ามีพื้นที่แบบนี้อีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้เผยตัวสู่สายตานักท่องเที่ยว ทว่าอุปสรรคใหญ่ของการท่องเที่ยวในเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมาคือ โครงสร้างพื้นฐาน การจัดการ การบริการ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากไปเวียดนาม “เพียงครั้งเดียว”

​แก้ไม่ง่าย ทว่า หากแก้ได้ เวียดนามเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

เครดิตภาพ: สุเจน กรรพฤทธิ์