posttoday

“เบ๋นถั่นห์” ลมหายใจแห่งไซ่ง่อน

09 พฤษภาคม 2561

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ  คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 17 นครโฮจิมินห์ / ไซ่ง่อน คือเมืองเก่าแก่ที่ชื่อว่า “ไพรนคร” พื้นที่ส่วนมากเต็มไปด้วยป่ารกทึบ ก่อนที่ผู้คนจะเข้ามาตั้งถิ่นฐานและเวียดนามจะนำผู้คนลงมาครอบครองพื้นที่ ก่อนที่ฝรั่งเศสจะมายึดครองใน ค.ศ.1859 เรียกชื่อเมืองว่า “ไซ่ง่อน”

ไซ่ง่อนในฐานะอาณานิคมฝรั่งเศสภายใต้ฉายา “ปารีสตะวันออก” มีความสำคัญในฐานะเมืองแห่งการค้าและศูนย์กลางของอินโดจีน ก่อนที่ยุคหลังอาณานิคมเมืองนี้จะกลายเป็นเมืองหลวงของเวียดนามใต้ และต่อมาเมื่อมีการรวมประเทศก็กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม

ทุกช่วงการเปลี่ยนผ่าน “ตลาดเบ๋นถั่นห์ (B&s871;n Thành)” ตลาดของเมืองนี้เป็นหมุดหมายของเมืองมาตลอด สะท้อนถึงวัฒนธรรมและผู้คนหลากหลายที่อาศัยในนครแห่งนี้ ด้วยตลาดแห่งนี้ปรากฎหลักฐานว่าเป็นตลาดสดตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้าแม่ค้าต่างมาตั้งร้านรวงใกล้ยาวไปจนจรดแม่น้ำเบ๋นแหง (B&s871;n Nghé) / แม่น้ำไซ่ง่อน และมีการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำ

ฝรั่งเศสเมื่อเข้ามาปกครองที่นี่ก็สร้างเป็นตลาดกลางของเมืองใน ค.ศ. 1870 ให้ชื่อภาษาฝรั่งเศสว่า “Les Halles Centrales” ตลาดนี้เคยถูกไฟไหม้ใน ค.ศ. 1912 ต้องปิดไป 2 ปี ก่อนจะเปิดขายอีกครั้งภายใต้ชื่อ “เบ๋นถั่นห์” ในศตวรรษที่ 20 ตลาดนี้สะท้อนวัฒนธรรมเมืองของไซ่ง่อน เป็นแหล่งวัตถุดิบทำอาหารชั้นดีที่นำเข้าจากต่างประเทศทั้งจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออก เป็นศูนย์กลางของถนนในเมือง มีระบบรถรางเชื่อมจากตลาดกลางเมืองไปยังชานเมืองและเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ผู้คนที่มาซื้อของในตลาดมักเป็นผู้มีฐานะดี ที่นี่ยังเป็นจุดนัดพบของชาวเมืองแทบทุกเทศกาล

ปัจจุบันเบ๋นถั่นห์มีอายุ 104 ปี ครอบคลุมพื้นที่ราว 8 ไร่ นับว่าเป็นหนึ่งในตลาดที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเมือง คนเวียดนามถือว่าตลาดนี้เป็นภาพตัวแทนหนึ่งของสังคมไซ่ง่อน ภายในยังมีร้านค้ามากกว่า 3,000 แห่ง แต่ละวันตลาดมีคนมาเดินกว่า 20,000 ​คน ทั้งนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น สินค้าที่ขายส่วนหนึ่งเป็นของที่ระลึก อีกส่วนเป็นของอุปโภคบริโภค อาหารท้องถิ่นเวียดนามทั้งของสดและแห้งยังคงหาซื้อได้ที่นี่ แต่ก็ต้องใช้ทักษะการต่อรองราคาด้วย

​วันนี้ “เบ๋นถั่นห์” ยังคงทำการไม่มีวันหยุดและเป็นเหมือนหนึ่งลมหายใจที่ยังคงหล่อเลี้ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสะท้อนวิถีชีวิตชาวเมืองไซ่ง่อน ตลาดแห่งนี้ยังเป็นที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวและทำหน้าที่ “ทางเลือก” ให้คนไซ่ง่อนนอกเหนือจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ทยอยเปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองเศรษฐกิจแห่งนี้

เครดิตภาพ: สุเจน กรรพฤทธิ์