posttoday

ปฏิรูประบบขนส่งเพื่อมวลชน ตอนที่ 3 รถแท็กซี่สิงคโปร์

28 มีนาคม 2561

เมื่อมาเยือนสิงคโปร์ผู้ใช้บริการแท็กซี่จะรู้สึกได้ว่าแท็กซี่ที่นี่ได้มาตรฐานเรื่องคุณภาพรถ ไม่มีปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อมาเยือนสิงคโปร์ผู้ใช้บริการแท็กซี่จะรู้สึกได้ว่าแท็กซี่ที่นี่ได้มาตรฐานเรื่องคุณภาพรถ ไม่มีปัญหาปฏิเสธผู้โดยสาร ป้ายบนหลังคารถแสดงสถานะ hired, on call, busy หรือบอกว่าไปย่านไหนอย่างชัดเจน 

แต่กว่าจะเป็นเช่นนี้ ทั้งหมดเริ่มจากมุมมองของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ถือว่าแท็กซี่เป็นตัวสนับสนุนสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะเพราะในห่วงโซ่การคมนาคม พาหนะชนิดนี้อยู่ระหว่างรถยนต์ส่วนตัวกับระบบขนส่งขนาดใหญ่ จึงต้องปฏิรูปให้ได้มาตรฐาน แต่ก็ต้องใช้เวลานานนับทศวรรษเช่นกัน

ทศวรรษที่ 1950-1960 ใครก็ได้ที่มีใบขับขี่สามารถขับแท็กซี่ได้ บ้างก็มีการรวมตัวกันระหว่างผู้ประกอบการซึ่งโดยมากมักไม่ได้มาตรฐาน ถึงทศวรรษที่ 1970 รัฐบาลพยายามขึ้นทะเบียนแท็กซี่แต่ก็ต้องเจอปัญหาจากกลุ่มนักเลงแท็กซี่ที่คนสิงคโปร์เรียกกันติดปากว่า “อาลีบาบา (Ali Baba)”

พวกอาลีบาบาส่วนหนึ่งไม่มีใบขับขี่รถขนส่งสาธารณะ บ้างก็ขายใบอนุญาตขับแท็กซี่ รถที่นำมาให้เช่าบริการก็สภาพแย่ ไม่มีประกันอุบัติเหตุ ไม่จ่ายค่าภาษี โก่งค่าโดยสาร บางคันแวะรับผู้โดยสารไปเรื่อยคล้ายรถสองแถว

ช่วงแรกทางการจับแท็กซี่เถื่อนได้ปีละเกือบ 1,000 คัน (จากที่มีในสิงคโปร์ขณะนั้น 4,000 คัน) แต่คนสิงคโปร์ก็เลี่ยงแท็กซี่พวกนี้ไม่ได้เพราะระบบขนส่งขนาดใหญ่ไม่เพียงพอ

รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการขนส่ง (Transport Advisory Board) นำวาระเข้าหารือในรัฐสภาจนออกข้อบังคับว่าด้วยการปรับโครงสร้างการให้บริการขนส่งทางบก ลงทุนหลายล้านดอลลาร์ตั้งสหกรณ์การขนส่งแห่งชาติ (NTUC transport cooperative) และตั้งสหกรณ์แท็กซี่ (NTUC COMFORT) ออกนโยบายลดอิทธิพลพวกอาลีบาบาโดยจูงใจให้ผู้ขับรถของสหกรณ์มีสิทธิเป็นเจ้าของรถได้ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ดีกว่าอาลีบาบา

ในทางอ้อม รัฐบาลพยายามเพิ่มอัตราจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาผู้ขับแท็กซี่เถื่อนอ้างเรื่องว่างงานทำให้ต้องมาขับรถเถื่อน ขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลแท็กซี่ให้เท่ากับน้ำมันเบนซินของรถส่วนตัวเพื่อบีบแท็กซี่เถื่อนให้เข้าระบบ เปิดให้บริษัทแท็กซี่ถูกกฎหมายเข้าประกอบกิจการ

ส่วนสหกรณ์แท็กซี่ที่ตั้งมาก่อนก็วางมาตรฐานสภาพรถและการให้บริการ บนถนน มีการจัดจุดรอแท็กซี่ (Taxi Stand) ลดการโบกแท็กซี่ข้างทางที่ทำให้รถติดด้วยโทรศัพท์สายตรงสำหรับแท็กซี่ (ปัจจุบันคือ แอพฯ ในมือถือ) แล้วให้ไปรับในจุดที่กำหนด ออกกฎหมายกำหนดมาตรฐาน เช่น เมื่อโทรจองต้องรับสายภายใน 30 วินาที แจ้งผู้โดยสารว่ามีรถหรือไม่ภายใน 5 นาที ผู้ขับไม่ควรถูกร้องเรียนเกิน 2 ครั้งในระยะการขับขี่ที่กำหนด หากละเมิดมีโทษหนักปรับสูงสุด 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 2.5 ล้านบาท) สำหรับคนขับต้องมีสัญชาติสิงคโปร์มีอายุมากกว่า 30 ปี ไม่มีประวัติอาชญากร ต้องอบรมหลักสูตรขับขี่รถสาธารณะและได้รับใบอนุญาตเพื่อคัดกรองคุณภาพคนขับ

ข้อที่ต่างจากบ้านเราคือในชั่วโมงเร่งด่วนค่าโดยสารที่นี่อาจสูงกว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลมีทางเลือกให้แล้วสำหรับคนที่จ่ายไม่ไหว คือระบบรถไฟฟ้าที่ราคาถูกที่สุดในโลก

ล่าสุดสิงคโปร์มีผู้ประกอบการแท็กซี่ตัวหลัก 7 ราย มีแท็กซี่ราว 2.8 หมื่นคัน รัฐบาลไม่ปิดกั้น Uber และ Grab เพื่อลดปัญหาแท็กซี่ขาดแคลนโดยจะออกกฎหมายมารองรับให้เหมาะสม ผู้นำสิงคโปร์มองว่า แท็กซี่รุ่นต่อไปอาจเป็นระบบอัตโนมัติ ผู้ประกอบการปัจจุบันจึงไม่ควรกลัวการมาของระบบขนส่งยุคใหม่เหล่านี้และต้องหาทางปรับตัว

ปัจจุบันคนสิงคโปร์ยังคงเจอปัญหาจำนวนแท็กซี่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่อย่างน้อย เมื่อเปิดประตูรถ ก้าวเข้าไปนั่ง ก็มั่นใจได้ว่าไม่โดนปฏิเสธ และมีมาตรฐานเชื่อถือได้