posttoday

การท่องเที่ยวและการค้าตามเส้นทาง R10

13 มีนาคม 2561

เมื่อปี 2558 หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย กัมพูชา และเวียดนาม

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th 

เมื่อปี 2558 หน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้ริเริ่มความร่วมมือเพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวตามระเบียงย่อยชายฝั่งทะเลตอนใต้ (Southern Coastal Sub-corridor) หรือเส้นทาง R10 ซึ่งเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้าของ 3 ประเทศ 8 จังหวัด โดยใช้ชื่อว่า “R10 Road of Paradise”

สำหรับ 8 จังหวัดบนเส้นทาง R10 ประกอบด้วย ไทย 1 จังหวัด (ตราด) กัมพูชา 6 จังหวัด (เกาะกง สีหนุวิลล์ พระตะบอง โพธิสัตว์ กัมปอต และกรุงแกบ) และเวียดนาม 1 จังหวัด (เกียนซาง) ซึ่งเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ได้แก่ เส้นทางจาก จ.ตราด-กรุงแกบ-เกียนซาง

เนื่องจากการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐของทั้ง 3 ประเทศ มีความแตกต่างกันพอสมควร จึงส่งผลให้การเดินทางมีอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งภาคเอกชนของไทยและกัมพูชากำลังพยายามเชื่อมโยงกันอยู่ โดยสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด ได้ทำความตกลงกับภาคเอกชนของจังหวัดแกบ เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวของทั้งสองจังหวัด และสร้างความร่วมมือในการให้บริการเดินรถโดยสารระหว่าง ตราด-เกาะกง-สีหนุวิลล์-กัมปอต-แกบ

อย่างไรก็ดี จ.ตราดประกาศว่าจะเป็น “เมืองแห่งความสุขสีเขียว” (Trat Green City) ซึ่งเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมบริการเป็นหลัก และไม่ต้องการให้มีโรงงานอุตสาหกรรมหนักตั้งในพื้นที่ จึงเหมาะสมแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนระยะยาว ยิ่งตราดอยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์ผลไม้ภาคตะวันออกด้วยแล้ว จึงพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ไม่ยาก โดยมีสวนผลไม้มากมายทั้งเงาะ มังคุด ทุเรียน ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

อีกทั้ง จ.ตราด ยังมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล มีหมู่เกาะน้อยใหญ่ 52 เกาะ เป็นการท่องเที่ยวที่ชาวไทยและชาวต่างประเทศนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ตราดยังมีพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวบนเส้นทาง R10 ไม่มากนัก หากเร่งพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดให้รองรับนักท่องเที่ยวได้ ความน่าสนใจของเส้นทางนี้ก็จะสูงขึ้น

ส่วนด้านการค้านั้น เส้นทาง R10 เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนามได้ดี อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับเมืองทวายของเมียนมาได้อีกด้วย ที่สำคัญคือมีระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อยู่ตรงกลาง ทำให้เส้นทาง
นี้มีโอกาสทางการค้าสูงขึ้นด้วย

นอกจากการท่องเที่ยวทางบก ก็ยังสามารถจัดการท่องเที่ยวทางทะเลได้เช่นกัน โดยอาจจะเริ่มออกเดินทางจากท่าเรือที่เมืองห่าเทียน (Ha Tien) หรือเมืองสักซ้า (Rach Gia) ของเวียดนาม เพื่อไปเกาะฟู้ก๊วก (Phu Quoc) แล้วใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไปสีหนุวิลล์ของกัมพูชา และอีก 2 ชั่วโมงไป จ.ตราด ของไทย

เห็นได้ชัดว่าโอกาสในการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและการค้าของทั้ง 3 ประเทศ มีค่อนข้างมาก แต่ยังขาดเพียงนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้ประโยชน์ ส่วนหนึ่งที่นักลงทุนจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนหรือไม่นั้น ก็น่าจะมาจากการสร้างความมั่นใจของภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน