posttoday

ปฏิรูปขนส่งเพื่อมวลชน รถประจำทางสิงคโปร์ (1)

28 กุมภาพันธ์ 2561

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมเป็นปัญหาร่วมกันที่เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองใหญ่

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน เรื่องโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมเป็นปัญหาร่วมกันที่เกือบทุกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองใหญ่ ไม่ว่าเรื่องปัญหาระบบขนส่งไม่เพียงพอ คุณภาพของระบบขนส่ง ฯลฯ

สิงคโปร์เป็นกรณีศึกษาที่ดี เนื่องจากมีระบบขนส่งครอบคลุมไปถึงแหล่งชุมชนหลักเกือบทั่วทั้งเกาะ อีกทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ ความสะดวก ความสะอาด และการจัดการที่ทันสมัยเป็นระบบ

ตั้งแต่ปี 1965 ที่สิงคโปร์ประกาศแยกตัวจากมาเลเซียกลายเป็นประเทศเกิดใหม่ สิงคโปร์ต้องกังวลกับการบริหารจัดการปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาสังคมที่ต้องลองผิดลองถูกแทบทุกเรื่อง หนึ่งในนั้นคือระบบขนส่งมวลชนซึ่งเคยเป็นเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน

ทศวรรษ 1950-1970 บันทึกของทางการพรรณนาสภาพรถโดยสารที่เก่า สกปรก พื้นรถทำด้วยไม้เป็นรู ส่งเสียงดัง ทางขึ้นมีประตูเดียวและร้อนอบอ้าว สำหรับชาวสิงคโปร์สภาพแบบนี้น่าอดสู พวกเขามองว่ามาจากการบำรุงรักษาที่แย่ รถประจำทางส่วนมากใช้งานเกิน 20 ปี Singapore Traction Company (STC) รัฐวิสาหกิจที่เดินรถเมล์หลายสาย ประกอบกิจการขาดทุนหลายล้านดอลลาร์ ยังมีบริษัทรถประจำทางเอกชน (รถร่วม) ที่มีเจ้าของเชื้อสายจีนอีก 11 แห่ง สารพันปัญหาไม่ต่างกับรถร่วมเมืองไทยตอนนี้

กรณีสิงคโปร์ รัฐบาลลีกวนยิวตัดสินใจพลิกโฉมระบบรถโดยสารโดยตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการขนส่ง (TAB) ในปี 1968 มีหน้าที่พัฒนาระบบขนส่งของทั้งเกาะใหม่ กรรมการชุดนี้จัดการควบรวมกิจการรถเมล์ทั้งของรัฐและเอกชนไว้ด้วยกัน เริ่มบังคับใช้กฎหมายที่ควบคุมคุณภาพรถประจำทาง ในปี 1973 พวกเขาตั้งหน่วยบริการรถโดยสารสิงคโปร์ หรือ SBS (Singapore Bus Service) แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนและต้องจัดการกับบริษัทรถโดยสารเดิมที่พยายามต่อรอง

แน่นอนว่า ลีกวนยิวและทีมงานชนแหลกแบบไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมและมองว่าผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไม่มีข้อแม้ ด้วยเป้าหมายที่ว่าการขนส่งสาธารณะและความสะดวกสบายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

ต่อมารัฐบาลรีแบรนด์หน่วยงานรถโดยสารอีกหลายครั้งจนปัจจุบันมีผู้ให้บริการแยกเป็น 4 หน่วยคือ SBS Transit, SMRT Buses, Tower Transit Singapore และ Go-Ahead Singapore

สี่หน่วยงานนี้เป็นรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนรถโดยสารยกชุด ทำป้ายรถเมล์ที่ระบุเส้นทางและค่าโดยสารทั้งหมด กำหนดระเบียบขึ้น-ลงรถโดยขึ้นจากประตูหน้าและลงประตูหลัง ระบบจ่ายค่าโดยสารเปลี่ยนเป็นระบบ EZ-Link ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2001 บัตรเดินทางร่วมนี้ ยังสามารถใช้กับระบบขนส่งสาธารณะทุกชนิดทั้ง MRT และ LRT แต่รถเมล์ก็ยังเป็นพาหนะหลักของคนสิงคโปร์ โดยในปี 2016 มีคนใช้รถโดยสารถึงวันละ 3.9 ล้านคน มีรถให้บริการทั้งระบบถึง 4,600 คัน

การพลิกโฉมรถโดยสารของสิงคโปร์อย่างกินระยะเวลานานกว่า 5 ทศวรรษ ผ่านการวิจัย ลงมืออย่างเอาจริงเอาจัง และทุ่มเทงบประมาณแบบไม่อั้น

นี่คือวิธีแก้ปัญหาแบบสิงคโปร์ที่มักถูกวิจารณ์ว่าอำนาจนิยมเพราะตัดสินใจโดยผู้นำที่มีอำนาจมาก แต่ก็มีลักษณะพิเศษคือ มันกลับมีประสิทธิภาพโดยอยู่บนฐานงานวิจัยและองค์ความรู้ที่เป็นระบบจำนวนมาก