posttoday

มุมมองการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน GMS

21 กุมภาพันธ์ 2561

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

โดย...วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ความต้องการแรงงานที่มีคุณภาพในประเทศกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (จีเอ็มเอส) เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องมาจากการไหลเข้าของการลงทุนทั้งจากประเทศในจีเอ็มเอสด้วยกันเองและจากนอกภูมิภาค แต่อย่างไรก็ดีปริมาณแรงงานที่มีศักยภาพนั้น ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับความต้องการในอนุภูมิภาค

ข้อจำกัดด้านอุปทานทรัพยากรมนุษย์ทั้งจำนวนและคุณภาพ จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่ควรต้องได้รับการผลักดันมีดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก แรงงานภาคเกษตรควรได้รับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การตรวจสอบย้อนกลับ มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย ตลอดจนแอพพลิเคชั่นทางมือถือต่างๆ ที่ช่วยในการผลิตและการตลาด สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงคุณภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิต ตลอดจนขยายตลาดให้กว้างขึ้น

ประเด็นต่อมาคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ขั้นตอนการนำเข้าส่งออก การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงการค้าเสรี และการทำแผนธุรกิจที่ดีที่จะทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

เนื่องจากเอสเอ็มอีเป็นกลไกสำคัญต่อการจ้างงานในประเทศ ฉะนั้นการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการย่อมมีผลต่อเนื่อง ทำให้เกิดการปรับปรุงคุณภาพสินค้า ขยายตลาด เพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้น เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการจ้างแรงงานระดับล่างที่มีรายได้น้อย นำไปสู่การกระจายรายได้ที่ทั่วถึงยิ่งขึ้น

อีกประเด็นคือการพัฒนาการศึกษาในระดับอาชีวะ สาขาที่มีความต้องการเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ สาขาอุตสาหกรรมเกษตรและประมง สาขาการท่องเที่ยวและโรงแรม สาขาเทคโนโลยียานยนต์ สาขาขนส่งและโลจิสติกส์ และสาขาก่อสร้าง

การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้อุปกรณ์การศึกษาล้าสมัยอย่างรวดเร็วเช่นกัน การผลิตบุคลากรไม่ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว วิทยาลัยอาชีวะควรร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โดยภาคอุตสาหกรรมลงทุนสนับสนุนให้นักศึกษาฝึกการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย เมื่อเรียนจบก็มีคุณภาพพร้อมที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการอบรมพนักงานก่อน จึงจะปฏิบัติงานได้ ประเด็นสำคัญอีกอย่างก็คือการพัฒนาบุคลากรในสาขาขนส่งโลจิสติกส์ เนื่องจากต้นทุนการส่งออกสินค้าของประเทศในจีเอ็มเอสสูงเกินกว่า 20% ของราคาสินค้าโดยเฉลี่ย ในขณะที่สิงคโปร์ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่า 8% เท่านั้น

ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการและการเข้าถึงข้อมูลด้านโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะสามารถลดต้นทุนแอบแฝงนี้ลง และจะส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดเป้าหมายถูกลง ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของสินค้าออกของจีเอ็มเอสอีกทางหนึ่ง

สุดท้ายคือการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาครัฐ เฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรระดับกลาง ซึ่งจะก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงที่มีอำนาจตัดสินใจต่อไปในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลและผลกระทบเชิงนโยบาย รวมทั้งการสร้างเครือข่ายของบุคลากรภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกันสำหรับประเทศในจีเอ็มเอสถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ การเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องทำให้สามารถวิเคราะห์และออกแบบมาตรการแนวทางการพัฒนาที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม