posttoday

การเงินอิสลาม กับการพัฒนาอาเซียน

28 มกราคม 2561

รายงานวิจัย ITD เรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์บทบาทภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน"

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

รายงานวิจัย ITD เรื่อง "การศึกษาวิเคราะห์บทบาทภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน" นำเสนอการจัดหาเงินทุนให้เหมาะสมกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม เช่น การจัดหาเงินทุนที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมและความเชื่อทางศาสนา เช่น การเงินอิสลาม (Islamic Finance) จัดหาเงินทุนจากกลุ่มผู้นับถือศาสนาอิสลาม โดยใช้ตราสารศุกูก (Sukuk) เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตราสารศุกูก (Sukuk) เป็นตราสารทางการเงินที่มีรูปแบบบนพื้นฐานของหลักศาสนาอิสลาม โดยมีหลักการว่าผู้ที่ออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) และผู้ถือตราสารหนี้ (เจ้าหนี้) ต้องได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เป็นการลงทุนร่วมกัน (Co-investing) หรือแบ่งปันความเสี่ยง (Risk sharing) ซึ่งทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องมีความเห็นพ้องต้องกันว่าจะนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงการหรือธุรกิจประเภทใดที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น การค้าอาวุธ สิ่งเสพติด การพนัน ธุรกิจบันเทิง เป็นต้น และต้องมีรายละเอียดธุรกรรมอ้างอิงด้วย เช่น สัญญาเช่าทรัพย์สิน สัญญาร่วมลงทุน สัญญาหุ้นส่วน และสัญญาว่าจ้างทำของ เพื่อให้มีผลตอบแทนที่มิใช่ดอกเบี้ย

ประเทศที่มีการเงินอิสลาม (Islamic Finance) ในอาเซียน ที่เด่นชัดคือ คือ ประเทศมาเลเซีย ได้ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางทางการเงินอิสลามในภูมิภาค โดยรัฐบาลมีแผนแม่บทที่ส่งเสริมให้การเงินอิสลาม (Islamic Finance) เป็นกิจกรรมทางการเงินประเภทหนึ่งที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงตามเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างโปร่งใสตามหลักอิสลาม ซึ่งกำหนดว่าธุรกรรมทุกประเภทต้องไม่มีการรับและให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเนื่องจากเป็นบาปประเภทหนึ่ง รัฐบาลมาเลเซียกำหนดหลักเกณฑ์การซื้อขายศุกูกเป็นกรณีพิเศษ ตราสารวาศุกูกที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีชื่อปรากฏอยู่บนกระดานซื้อขาย แต่ทำการซื้อขายได้เพียงบนรูปแบบซื้อขายนอกตลาด (Over The Counter : OTC) เท่านั้น

โอกาสที่สำคัญของตลาดตราสารศุกูก (Sukuk) มาจากชาวมุสลิมในประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนถึง 300 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรอาเซียน นับว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตสูง รวมทั้งวัฒนธรรมความเป็นผู้ใจบุญของอาเซียนก็ส่งเสริมต่อการขยายตัวของตราสารดังกล่าว แต่จุดอ่อนที่สำคัญ คือ ค่อนข้างมีเงื่อนไขและข้อจำกัดมากกว่าตราสารทั่วไป ดังนั้นภาครัฐต้องกำกับดูแลออกมาตรการที่เอื้อต่อการซื้อขายตราสารดังกล่าว

ประเทศสมาชิกอาเซียนที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลักเหมาะในการใช้การเงินอิสลาม (Islamic Finance) แต่ประเทศอื่นอาจสามารถใช้แนวทางนี้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของตน อาทิ วัฒนธรรมในการเป็นผู้ช่วยเหลือทางการเงินเพื่อการสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกและโอกาสในการจัดหาเงินทุนสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน