posttoday

ความยั่งยืน ของอุตสาหกรรมกัมพูชา

26 ธันวาคม 2560

กัมพูชาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกัมพูชาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) www.itd.or.th

กัมพูชาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกัมพูชาเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GreaterMekong Subregion หรือ GMS) ที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนี้ขับเคลื่อนโดยภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคเกษตรกรรม จึงทำให้กัมพูชาใกล้ที่จะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ต่ำเป็นประเทศรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ กัมพูชาสามารถลดปัญหาความยากจนได้อย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีจำนวนคนยากจนอยู่เกือบ 50% ของประชากรทั้งหมด เมื่อปี 2550 เหลือเพียง 19% ในปี 2555 หากพิจารณาถึงภาคอุตสาหกรรมของกัมพูชา ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจหลักที่เป็นตัวขับเคลื่อน
เศรษฐกิจ เนื่องจากเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งสามารถดูดซับแรงงานในภาคการผลิตได้สูงถึงประมาณ 3 แสนคน หรือคิดเป็น 53% ของแรงงานในภาคการผลิตทั้งหมด รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมยังสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 80% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และยังเป็นภาคธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชามากที่สุด

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของกัมพูชานั้น เกิดจากการที่เศรษฐกิจของกัมพูชายังไม่มีความหลากหลายเท่าที่ควร เนื่องจากกัมพูชาพึ่งพาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสำคัญ ถึงแม้ว่าการค้าระหว่างประเทศของกัมพูชาจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่การพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเช่นนี้ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการจ้างงาน เนื่องจากการส่งออกส่งผลให้กัมพูชาจำเป็นต้องแข่งขันในตลาดโลกในด้านราคา จนทำให้เกิดการกดค่าจ้างแรงงานในที่สุด จึงอาจถูกมองว่าการพัฒนาเช่นนี้ไม่ใช่ความยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ กัมพูชาจำเป็นต้องสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปสู่การใช้ภาคบริการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มากขึ้น และยกระดับการใช้เทคโนโลยีในการผลิตสินค้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงในการผลิตที่ต้องควบคุมต้นทุนแล้ว ยังจะช่วยสร้างโอกาสในการใช้เทคโนโลยีและการผลิตในสาขาอื่นๆ ที่มีคุณค่าในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกัมพูชาให้มากยิ่งขึ้น

การดำเนินนโยบายของกัมพูชา ชี้ให้เห็นว่ากัมพูชาตระหนักถึงปัญหาความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยอาศัยภาคบริการ ต้องพัฒนาการอำนวยความสะดวกทางการค้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งอาศัยการลงทุนจากต่างชาติ และต้องพัฒนาศักยภาพด้านการลงทุนของท้องถิ่นด้วย เพื่อขับเคลื่อนให้กัมพูชาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทย จึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของกัมพูชา และมุ่งเชื่อมห่วงโซ่คุณค่ากับกัมพูชาให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่ออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะยาวได้