posttoday

นวัตกรรมจัดหา เงินทุนอาเซียน

19 ธันวาคม 2560

จากรายงานวิจัย ITD "การศึกษาวิเคราะห์บทบาทภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน"

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) & www.itd.or.th

จากรายงานวิจัย ITD "การศึกษาวิเคราะห์บทบาทภาคการเงินเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในอาเซียน" ระบุว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในการจัดหาเงินทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการจัดหาแหล่งเงินทุนให้เพียงพอสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนของภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการขยายฐานของนักลงทุน การลดภาระหนี้สาธารณะ และการใช้มาตรการทางด้านการเงิน การคลัง และอื่นๆ ในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะที่ภาคเอกชนควรให้ความสำคัญกับผลตอบแทนและความเสี่ยงในการลงทุน และเนื่องจากเงินทุนของภาคเอกชนมีจำนวนมากกว่าเงินทุนของภาครัฐ ดังนั้นนวัตกรรมการจัดหาเงินทุนของอาเซียนจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนจัดสรรเงินทุน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ภาครัฐควรขยายฐานนักลงทุน อาทิ ออกพันธบัตรเพื่อประชาชนที่ทำงานในต่างประเทศ (Diaspora Bond) หรือพันธบัตรเพื่อการศึกษา (Education Bond) สำหรับกลุ่มครอบครัวที่ต้องการออมเงินเป็นทุนการศึกษาของบุตรหลาน เนื่องจากภาครัฐต้องลดภาระหนี้สาธารณะ ภาครัฐสามารถเลือกที่จะระดมทุน โดยใช้กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) ซึ่งจะใช้รายได้ในอนาคตที่เกิดจากโครงการลงทุนจ่ายคืนให้กับนักลงทุน และสร้างกองทุนเพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity Stabilization Fund) โดยการสะสมเงินตอนสินค้าราคาแพง และให้เงินอุดหนุน ตอนสินค้าราคาต่ำ นอกจากนี้ยังสามารถใช้มาตรการทางภาษี อาทิ ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับภาคเอกชน การสร้างแรงจูงใจสำหรับการลงทุนสำหรับภาคเอกชนทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1.สร้างภาพลักษณ์ให้แก่ภาคเอกชน ให้เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ การเข้าร่วมโครงการสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้นสีแดงเป็นหลัก หรือ PRODUCT RED โดยรายได้จะใช้เพื่อต่อต้านการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ 2.ลดต้นทุนของการผลิตและการให้บริการของภาคเอกชน อาทิ การระดมทุนสาธารณะ (Crowdfunding) ในโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 3.ลดความเสี่ยงและความมั่นใจให้กับนักลงทุนภาคเอกชน อาทิ การทำพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond) ที่มีตัวกลางในการดำเนินการที่น่าเชื่อถือในการดูแลและบริหารจัดการให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันและมีความเชื่อใจระหว่างกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแตกต่างกัน ตามระดับรายได้และระดับการพัฒนาประเทศ ดังนั้น แต่ละประเทศควรจัดหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับพื้นฐานของประเทศตนเอง โดยประเทศกำลังพัฒนาน้อยต้องอาศัยแหล่งเงินทุนจากภาครัฐมากกว่า และควรให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา นอกจากนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนควรส่งเสริมการให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชนในเรื่องการออมและการลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นฐานในการพึ่งพาตนเองในระยะยาว