posttoday

ติมอร์เลสเต สมาชิกใหม่อาเซียน

28 พฤศจิกายน 2560

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต (Democratic Republic ofTimor-Leste) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ติมอร์เลสเต"

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต (Democratic Republic ofTimor-Leste) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "ติมอร์เลสเต" มีทำเลที่ตั้งและพรมแดนติดกับทางทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ของอินโดนีเซีย ขณะที่ทางทิศใต้ติดกับออสเตรเลียและทะเลติมอร์ มีเนื้อที่ประมาณ 14,874 ตารางกิโลเมตร มีเมืองหลวงคือกรุงดิลี มีประชากรของประเทศรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านคน มีภาษาโปรตุเกสและภาษาเตตุมเป็นภาษาราชการ โดยมีภาษาอังกฤษและภาษาอินโดนีเซียเป็นภาษาที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารทั่วไป ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 91 นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก การเมืองการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี

มีการแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 จังหวัด ตามสถิติเมื่อปี 2559 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศอยู่ที่ 4.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,200 ดอลลาร์ ต่อหัวประชากร มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5 สินค้าส่งออกหลักของประเทศ ประกอบด้วย กาแฟ เนื้อมะพร้าวแห้ง และหินอ่อน ขณะที่สินค้านำเข้าหลักของประเทศ ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าประเภทอาหาร อาทิ ข้าว และแป้งสาลี

ในช่วงที่ผ่านมา ติมอร์เลสเตมีความเคลื่อนไหวเป็นลำดับที่ต้องการจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้ โดยติมอร์เลสเตได้มีการยื่นความประสงค์ที่จะเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อปี 2554 ขณะนั้นมีอินโดนีเซียเป็นประธานอาเซียน โดยอาเซียนได้จัดตั้งคณะทำงานภายใต้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Council : ACC) เพื่อศึกษานัยของการรับติมอร์เลสเตเข้าเป็นสมาชิกในทุกมิติ และพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ของอาเซียน ตามข้อ 6 ของกฎบัตรอาเซียน เพื่อให้การรับสมาชิกใหม่ของอาเซียนมีกระบวนการที่ชัดเจน และนำไปสู่ข้อสรุปที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าจะ ผลักดันให้ติมอร์เลสเตสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนได้ภายในปี 2561

ติมอร์เลสเตให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์อันดีกับอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ โปรตุเกส ประเทศสมาชิกอาเซียน และกลุ่มประเทศผู้ใช้ภาษาโปรตุเกสทั้ง 8 ประเทศ ซึ่งให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอด รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และสหภาพยุโรป ในส่วนความสัมพันธ์ทวิภาคีทางการค้า ระหว่างไทยกับติมอร์เลสเต พบว่าการค้าระหว่างกันยังมีจำกัด เนื่องจากติมอร์เลสเตมีตลาดค่อนข้างเล็ก โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยัง ติมอร์เลสเต ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์ยาง ขณะที่ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นหลักจากติมอร์เลสเต

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างไทยกับติมอร์เลสเตมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจภาคบริการ พลังงานและเกษตรกรรม ติมอร์เลสเต มีทรัพยากรด้านพลังงานอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ จึงมีศักยภาพเป็นแหล่งพลังงานให้แก่ไทยได้ ขณะที่ติมอร์เลสเต ประสงค์จะเรียนรู้ประสบการณ์ของไทยในการบริหารจัดการ และการจัดตั้งบริษัทเอกชนด้านพลังงานจากบริษัท ปตท. รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการประมงอีกด้วย