posttoday

กัมพูชาดาวรุ่งการลงทุน

15 พฤศจิกายน 2560

จากข้อมูลสถิติการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ที่ระบุว่า ในปี 2559 มีเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในกัมพูชารวม 576.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

จากข้อมูลสถิติการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ที่ระบุว่า ในปี 2559 มีเม็ดเงินลงทุนเข้าไปในกัมพูชารวม 576.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความน่าสนใจในการลงทุน

จิรวุฒิ สุวรรณอาจ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ฉายภาพรวมการลงทุนในกัมพูชาให้ฟังว่า ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนของกลุ่มทุนรายใหญ่ ทั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษกัมพูชาและพื้นที่อื่นๆ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังเข้าไปทำธุรกิจแค่การค้าและส่งออกสินค้า แต่ก็มีบางส่วนที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจร้านอาหาร สปา นวดแผนไทย รับเหมาก่อสร้าง ซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) และเอเยนซี โฆษณา รวมทั้งธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำดื่ม และเม็ดพลาสติก โดยมองว่าทุกธุรกิจยังมีโอกาสในตลาดกัมพูชา

ทั้งนี้ รายงานภาวะการลงทุนในประเทศกัมพูชาปี 2559 ระบุว่า มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกัมพูชาทั้งหมด 19 ประเทศ โดยโครงการที่เข้ามาลงทุน อันดับที่ 1 มาจากนักลงทุนจีน จำนวน 42 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนรวมทั้งหมดอยู่ที่ 576.56 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นการลงทุนของคนกัมพูชาเอง 114.58 ล้านดอลลาร์ และเป็นการลงทุนจากต่างชาติ 461.98 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้น 33.89% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อจำแนกจากมูลค่าการลงทุน ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด 118.47 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนก่อสร้างห้างสรรพสินค้า ตามด้วยเวียดนาม 95.75 ล้านดอลลาร์ ในอุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมเหล็กและสวนผลไม้ ขณะที่ไทยจัดเป็นอันดับที่ 6 มีมูลค่าการลงทุน 26.46 ล้านดอลลาร์ ในโครงการลงทุนโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ธุรกิจโรงสีข้าว ธุรกิจโรงแรม และธุรกิจก่อสร้าง

ขณะที่ช่วง 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.มิ.ย. 2560) นักลงทุนเข้ามาลงทุนในกัมพูชามากที่สุด ทั้งในด้านจำนวนโครงการและมูลค่าแซงหน้าญี่ปุ่น รวมมูลค่าเงินลงทุนของจีนช่วง 6 เดือนของปีนี้ อยู่ที่ 250.84 ล้านดอลลาร์ สำหรับประเทศไทยมีการเข้าไปลงทุน 2 โครงการ ได้แก่ การก่อสร้างห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ของบริษัท Makro และการก่อสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้ของบริษัท Chin Huay

จิรวุฒิ บอกว่า กลุ่มธุรกิจที่คาดว่ามาแรงในตลาดนี้ คือธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจออกแบบ ธุรกิจตกแต่งภายใน และกลุ่มธุรกิจที่มีนวัตกรรม เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบริหารจัดการระบบธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สำหรับการจัดระบบในองค์กรและระบบการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของธุรกิจในท้องถิ่นที่กำลังเติบโต

สำหรับรูปแบบการกระจายสินค้าในกัมพูชา พบว่า ยังใช้การขนส่งทางบกเป็นหลัก ด้านการตลาดออนไลน์ยังอยู่ในช่วงการเรียนรู้ เพราะเพิ่งเริ่มเข้ามา โดยข้อจำกัดหลักๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาด้านอี-คอมเมิร์ซ คือระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระบบบัตรเครดิตที่ยังไม่แพร่หลาย ทำให้ยังต้องใช้เงินสดในการชำระเงิน หรือโอนผ่านธนาคารหรือตู้เอทีเอ็มเป็นหลัก

"แม้ว่ากัมพูชาไม่ใช่ตลาดใหม่ในการเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทย แต่กัมพูชายังต้องพัฒนาประเทศอีกมาก โอกาสการค้าการลงทุนยังสูง ผู้ประกอบการไทยต้องใช้ประโยชน์จากความนิยมและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าไทยในกัมพูชา พัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจตัวเองให้ได้" จิรวุฒิ ทิ้งท้าย