posttoday

Aid for Trade ปัจจัยขับเคลื่อน CLMV

15 พฤศจิกายน 2560

การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนย่อมมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs)

โดย...วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ ผู้อำนวยการ Mekong Institute

การเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนย่อมมีผลกระทบเป็นอย่างมากต่อประเทศกำลังพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV)

การลดและขจัดกำแพงภาษีนำเข้าถือเป็นโอกาสที่ทำให้สินค้าจาก CLMV สามารถเข้าถึงตลาดในภูมิภาคและตลาดโลกได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว โอกาสไม่ได้มาอย่างง่ายดายอย่างที่คิด เนื่องจาก CLMV มีข้อจำกัดด้านอุปทาน ทั้งในเรื่องศักยภาพการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนประสิทธิภาพในการขนส่งและกระจายสินค้า ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ

ฉะนั้น ความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid for Trade) จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ CLMV เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น และสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างเต็มที่ยิ่งขึ้น

ความช่วยเหลือเพื่อการค้าเป็นข้อตกลงจากการประชุมระดับรัฐมนตรีขององค์การการค้าโลกที่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2548 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทาน อาทิ ข้อจำกัดด้านนโยบายและกฎระเบียบทางการค้า ข้อจำกัดด้านศักยภาพการผลิต รวมถึงข้อจำกัดด้านโครงสร้างการขนส่งและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ได้แก่ เครือข่ายถนนหนทาง สะพาน และท่าเรือ เป็นต้น

ใน CLMV ความช่วยเหลือที่ได้รับเป็นการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เวียดนามเคยเป็นประเทศผู้รับอันดับสามของโลกรองจากอินเดียและอัฟกานิสถานในปี พ.ศ.2552 คิดเป็น 13% ของมูลค่าทั้งหมดที่เอเซียได้รับในขณะนั้น ซึ่งมีส่วนสำคัญในการทำให้มูลค่าการส่งออกของเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นและมีผลต่อเนื่องต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกว่า 7% ในปัจจุบัน

ส่วนกัมพูชาและ สปป.ลาว ได้รับการสนับสนุนทางการเงินและทางเทคนิคในด้านการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตร สร้างเส้นทางขนส่งที่เชื่อมโยงในอนุภูมิภาค รวมทั้งปรับปรุงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะปรับปรุงระเบียบพิธีการศุลกากร เพื่อลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นลง ทำให้ประหยัดเวลาและลดต้นทุนทางการค้าของผู้ส่งออกลงได้

จากรายงานขององค์การการค้าโลก พบว่าการปรับปรุงมาตรฐานสินค้าเกษตร ส่งผลให้กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มเป็นเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี

การพัฒนาเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจและการอำนวยความสะดวกทางการค้า ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของ สปป.ลาว ลดลงกว่า 30% ร่นระยะเวลาการดำเนินตามขั้นตอนพิธีการศุลกากรลงจาก 5 วันในปี 2554 เป็น 2.9 วันในปี 2557

สำหรับเมียนมานั้น ช่วงแรกๆ ได้รับการสนับสนุนน้อยที่สุด เหตุผลมาจากการเมืองภายใน แต่หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2558 สหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน หันมาสนใจและอุดหนุนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นผลลัพธ์ดีๆ ของ CLMV การประเมิน ผลกระทบที่ออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนนั้นทำได้ยาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Aid for Trade เป็นปัจจัยหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาของ CLMV และเป็นตัวเร่งสำคัญในการลดช่องว่างทางการพัฒนาของประเทศในกลุ่ม อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียนลงได้อีกด้วย