posttoday

ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

11 ตุลาคม 2560

หากประเทศไทยต้องการหลุดพ้นจากการเป็นเพียง "ผู้รับจ้าง" ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของโลก

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

หากประเทศไทยต้องการหลุดพ้นจากการเป็นเพียง "ผู้รับจ้าง" ผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของโลก การมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovative-Driven Economy) จึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การพยายามยกระดับการพัฒนาประเทศไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ จึงมักจะถูกใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความเจริญเติบโตและความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศในระยะยาว

ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมด้วยการปรับโครงสร้างไปสู่การสร้าง "ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างนวัตกรรม" เพื่อให้สามารถเท่าเทียมกับประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจในภูมิภาครายใหม่อย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและความคิด สร้างสรรค์ นับเป็นบทบาทสำคัญต่อการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจที่ พึ่งพาการผลิตที่ใช้ความรู้เป็นพื้นฐานสำคัญเพื่อต่อยอดและสร้าง มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยที่ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์และนวัต กรรม เหล่านั้น สามารถเริ่มสร้างได้จากบุคคลเพียงคนเดียวจนไปถึงองค์กรที่มีขนาดใหญ่

นวัตกรรมจึงสามารถเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของแรงงานได้โดยตรง ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ และเป็นการ ผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูกหรือการผลิตที่สร้างมลพิษอย่างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหมือนในอดีต

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบระหว่างนวัตกรรมจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบวัฒนธรรม และความรู้ท้องถิ่นกับการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการลงทุนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว การลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า

นอกจากนี้ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังช่วยลดช่องว่างทางสังคม อันเกิดขึ้นจากส่งเสริมการจ้างงานในกลุ่มแรงงานสตรี แรงงานคนชรา และคนพิการในพื้นที่แต่ละท้องถิ่นนั้นๆ

ดังนั้น การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในระดับชุมชนจึงช่วย ในเรื่องของการกระจายรายได้ และพัฒนาชุมชนให้คนในชุมชน สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม อีกทั้งยังช่วยลดการที่แรงงานอพยพออกไปทำงานในเขตเมืองได้อีกทางหนึ่ง

รายได้ส่วนใหญ่ของการผลิตในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์นั้น จะตกไปสู่แรงงาน และยังสามารถสร้างการเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ในชุมชนได้โดยตรง เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การสร้างงานศิลปะ การออกแบบ การแพทย์แผนไทย ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนต้องพึ่งพาภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งสิ้น