posttoday

แรงงาน 4.0

06 ตุลาคม 2560

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

โดย[email protected]

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เปิดเผยผลวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ "ปัญหาและความท้าทายของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0" ภายใต้โครงการ Chevron enjoy science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ซึ่งมอบหมายให้ "Chisholm institute Australia" วิจัยในรูปแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์จากทั้งในและต่างประเทศ

งานวิจัยค้นพบว่าในด้านเทคโนโลยีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย 75% ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับต่ำกว่า 3.0 ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวสู่ระดับ 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชีย โดยข้อมูลจากสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติในปี 2558 ประเทศมีจำนวนหุ่นยนต์ต่อแรงงาน 1 หมื่นคน เพียง 33 ตัว เทียบกับของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่ 347, 339, 129 ตามลำดับ

ผลการศึกษาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยหลายแห่งไม่สามารถปรับกระบวนการผลิตไปสู่ระดับการใช้ระบบอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงของระบบต่างๆ ตามที่คาดการณ์ไว้ในนโยบาย Thailand 4.0 ในระยะเวลาอันสั้นได้ ดังนั้นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงเสนอว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าควรจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือบริษัทต่างๆ ในการยกระดับจากอุตสาหกรรม 2.0 ไปเป็น 3.0

ในด้านทักษะแรงงาน ภาคอุตสาหกรรมไทยยังต้องการแรงงานทักษะสูงและช่างเทคนิคที่มากขึ้น โดยเฉพาะด้านแมคคาทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติ และการควบคุมหุ่นยนต์ และต้องสามารถนำทักษะไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี และวัสดุใหม่ๆ

ทั้งนี้ การประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกได้ระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานโดยรวมในช่วง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2563 อันดับแรก คือ การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน รองลงมา คือ ทักษะการเข้าสังคม ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และทักษะเกี่ยวกับระบบ แต่สำหรับในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง พบว่าความต้องการทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการบริหารทรัพยากร ทักษะด้านเทคนิคลดลง ขณะที่ทักษะเกี่ยวกับระบบ ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน และทักษะทางปัญญาและองค์ความรู้ มีน้ำหนักความต้องการเพิ่มขึ้น สะท้อนการใช้ระบบอัตโนมัติและระบบจัดการอัจฉริยะในการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ การประชุมยังคาดการณ์ไว้ด้วยว่าทักษะที่เกี่ยวกับกระบวนการคิดและการใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ การสร้างภาพ และการใช้วิจารณญาณอย่างมีเหตุมีผลจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต

ดังนั้น ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 การมีแรงงานที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญคือดัชนีชี้วัดสำคัญ นโยบายหลักในการพัฒนาควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสเต็ม (STEM : Science Technology Engineering and Mathematics) การศึกษาและทักษะทางด้านอารมณ์ในการทำงาน (Soft Skills) การสนับสนุนการฝึกอบรมช่างเทคนิค การสร้างความตระหนักรู้ในอาชีพช่างเทคนิคสู่สังคม การพัฒนาความ ร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนความเป็นจริงในภาคการผลิตของไทย ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและสนับสนุนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะภาคการศึกษาซึ่งต้องลงมือปฏิรูปอย่างเร่งด่วน