posttoday

การค้าระหว่างประเทศกับ การพัฒนาที่ยั่งยืนของเวียดนาม

26 กันยายน 2560

การปฏิรูปเศรษฐกิจหลายมิติอย่างต่อเนื่องของประเทศเวียดนาม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

การปฏิรูปเศรษฐกิจหลายมิติอย่างต่อเนื่องของประเทศเวียดนาม ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.1986 ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7-8 ต่อปี ช่วงปี ค.ศ.1990-2000 และยังคงสามารถรักษาการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี

หลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน นโยบายการปฏิรูปยังสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้หลั่งไหลสู่เวียดนามได้อย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของเวียดนามยังคงขยายตัวประมาณร้อยละ 9 ต่อปี ระหว่างปี ค.ศ.1993-1997 แม้ว่าจะมีการปรับตัวลดลงบ้างหลังวิกฤตเศรษฐกิจ แต่โดยรวมถือว่า นโยบายการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างสูงในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามเปลี่ยนจากเศรษฐกิจเกษตรกรรมไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมการผลิต โดยอัตราส่วนภาคเกษตรกรรมลดลงจากร้อยละ 40.56 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเมื่อปี ค.ศ.1986 เหลือร้อยละ 18 ในปี ค.ศ.2013 ขณะที่อัตราส่วนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.36 เป็นร้อยละ 38 ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1986-2013

อย่างไรก็ดี การค้าระหว่างประเทศถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยอัตราส่วนการส่งออกต่อกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 52 เป็นร้อยละ 71 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1993-1998 สินค้าส่งออกหลักได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาการใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า ซึ่งกลายมาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าสินค้าเกษตรกรรม

ขณะที่อัตราความยากจนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยสัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลงจากจากร้อยละ 50 เหลือร้อยละ 3 ในช่วงปี ค.ศ.1986-2012 สะท้อนให้เห็นว่า การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจสามารถช่วยลดความยากจนโดยช่วงปี ค.ศ.1993-1998 ค่าจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามขยายเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี ขณะที่การจ้างงานประมาณขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2-3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่โดยพบเมืองใหญ่อย่างฮานอยและโฮจิมินห์ ซึ่งค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงกว่าเมืองอื่นๆ

การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจส่งผลเสียต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่งผลกระทบต่อการจัดการน้ำและสุขาภิบาล การใช้พลังงาน การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางบก เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องในระยะยาว ส่งผลให้รัฐบาลเวียดนามได้ปรับเปลี่ยนนโยบายมาให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าการค้าระหว่างประเทศจะสร้างประโยชน์ต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน