posttoday

เกษตรพันธสัญญา ในลุ่มแม่น้ำโขง

29 สิงหาคม 2560

ภาคการเกษตรเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาก

โดย...สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

ภาคการเกษตรเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมาก โดยในปี 2015 กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ยังคงมีสัดส่วนการผลิตด้านการเกษตรมากกว่าร้อยละ 25 ของจีดีพี ถึงแม้ว่ามูลค่าการผลิตสินค้าเกษตรของเวียดนามมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของจีนและไทยมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 9 ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงจากภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอุตสาหกรรม

ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังถือว่ามีสัดส่วนแรงงานใน ภาคเกษตรกรรมค่อนข้างสูง โดย สปป.ลาว มีสัดส่วนของแรงงานที่ทำงานในภาคการเกษตรสูงที่สุดในอนุภูมิภาคประมาณร้อยละ 71.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ รองลงมาคือ เมียนมา (ร้อยละ 62.7) กัมพูชา (ร้อยละ 51.1) เวียดนาม (ร้อยละ 43.6) และไทย (ร้อยละ 35.2) ตามลำดับ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกจะอยู่ที่ร้อยละ 29.5 จึงอาจกล่าวได้ว่าอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเป็นกลุ่มประเทศหลักในการผลิตสินค้าเกษตรกรรม

ดังนั้น การยกระดับภาคเกษตรกรรมของประเทศไปสู่การพัฒนาในระดับภูมิภาคระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ เนื่องจากระบบนี้จะเปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงตลาดที่มีการแข่งขันสูงได้ง่ายขึ้น

ในทางกลับกัน การทำเกษตรพันธสัญญาก็อาจเพิ่มความเสี่ยงด้านตลาดและการผลิตให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรรายใหม่ หรือเกษตรกรที่ไม่เคยปลูกพืชชนิดนั้นมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น หากการจัดการไม่มีประสิทธิผลด้วยแล้ว ก็อาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถผลิตได้ตามปริมาณ หรือคุณภาพที่ระบุไว้ในสัญญาที่ตกลงกันไว้

ตัวอย่างของเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรลาว ที่ดำเนินการเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรชาวไร่อ้อยในแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว โดยได้รับเงินลงทุนจากบริษัทในธุรกิจการเกษตรของไทย เช่นเดียวกับบริษัท อังกอร์ กสิกรรม รุ่งเรือง ที่ดำเนินธุรกิจข้าวในกัมพูชา โดยได้รับเงินลงทุนจากบริษัทในธุรกิจการเกษตรของไทยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีเกษตรพันธสัญญาการผลิตและส่งออกเมล็ดกาแฟ สีหนุก (Sinouk) ใน สปป.ลาว ซึ่งได้รับเงินทุนจากไทย สิงคโปร์ จีน และเวียดนาม โดยมีการส่งเมล็ดกาแฟมายังไทย เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตและส่งไปขายยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา

เกษตรพันธสัญญาในลุ่มแม่น้ำโขง กลายเป็นความร่วมมือในระดับสากล ทั้งมิติด้านการเงิน เทคโนโลยี การเสริมสร้างขีดความสามารถ การค้า และประเด็นเชิงระบบ ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับเป้าหมายที่ 17 ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย