posttoday

เมืองอัจฉริยะ (1)

23 สิงหาคม 2560

จากการเติบโตของเมืองทั่วโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประชากรหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่

โดย...ดร.การดี เลียวไพโรจน์[email protected]

จากการเติบโตของเมืองทั่วโลกที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ประชากรหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่ ในขณะที่เมืองใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ความต้องการของผู้อยู่อาศัยเปลี่ยนไป พร้อมกับทรัพยากรและแหล่งพลังงานที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทวีคูณขึ้น

แนวคิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City จึงเป็นเรื่องร้อนที่ทุกประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ ข้อมูลจากสหประชาชาติเปิดเผยว่า ภายในปี 2593 ประชากรราว 2 ใน 3 ของโลกจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของเมืองสูงที่สุด โดยประชากรกว่า 64% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง แล้วเมืองอัจฉริยะ คืออะไร

แต่ละเมืองอาจมีการสร้างจุดแข็งและกระบวนการที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขั้นสูง สร้างความเชื่อมโยงและสามารถคาดการณ์ธรรมชาติได้ล่วงหน้า ไปจนถึงการดึงรากฐานวัฒนธรรมมาเป็นแกนในการออกแบบเมือง แต่การพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การสร้างเมืองที่ทำให้คนอยู่อาศัยได้อย่างมีความสุข ปลอดภัย เหมาะกับการเติบโตเรียนรู้ของคนทุกรุ่นอายุ มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การดำเนินงานของภาครัฐเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท IDC Asia/Pacific ได้วิเคราะห์ข้อมูลโครงการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะของเมืองหลักในเอเชียแปซิฟิก ใน 14 มิติ และประกาศเป็นรางวัลทั้ง 14 มิติ พบว่า มีทั้งหมด 16 โครงการที่ได้รับรางวัล

ประเทศนิวซีแลนด์มีความก้าวหน้าด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ มากที่สุด โดยมีโครงการสำคัญที่รองรับเมืองอัจฉริยะที่โดดเด่นถึง 4 มิติ คือ การบริการสาธารณะ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และการสาธารณสุข รองลงมาคือประเทศสิงคโปร์ ประเทศ อื่นๆ ที่ได้รับรางวัลรองลงมา คือ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง จีน มาเลเซีย และไทย

สำหรับประเทศไทย จ.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลด้านการจัดสรรพื้นที่เมือง อัจฉริยะและพื้นที่การเกษตร และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับในอาเซียน ประเทศสิงคโปร์มีความก้าวหน้าเรื่องเมืองอัจฉริยะอยู่อันดับต้นๆ และถือเป็นกรณีศึกษาของโลก ตามนโยบาย Smart Nation

โดยรัฐบาลยอมรับดีว่า รัฐนั้นไม่สามารถจะสร้างนวัตกรรมได้เองทัน จึงเปิดกว้างกับกระบวนการ Co-Creation กับมหาวิทยาลัย เอกชน และรวมถึงสตาร์ทอัพสิงคโปร์ใช้โครงข่ายเทคโนโลยีเพื่อทำการวิเคราะห์ คาดการณ์ และจัดการทรัพยากรแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่การเดินทาง ระบบขนส่งอัจฉริยะ จนถึงการใช้ทรัพยากร น้ำ ไฟ ภายในครัวเรือน

ล่าสุด การประปาของสิงคโปร์ทำการติดตั้งหัวฝักบัวอัจฉริยะในระดับครัวเรือน 1 หมื่นครัวเรือน เพื่อเก็บและส่งข้อมูลให้กับผู้ใช้งาน เนื่องจากน้ำที่ใช้อาบน้ำถือว่าสูงถึง 29% ของการใช้น้ำทั้งหมดภายใน ครัวเรือน การทำแบบนี้ทำให้ประชาชนสามารถรู้ถึงปริมาณน้ำที่ใช้ได้อย่างเรียลไทม์ช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถลดการใช้น้ำของทั้งประเทศซึ่งเป็นทรัพยากรขาดแคลนของสิงคโปร์ได้อย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่ได้ทดลองใช้พบว่า สามารถลดการใช้น้ำได้ราว 5 ลิตร/คน/วัน

และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายของน้ำประปาในครัวเรือนก็ลดลงไปด้วยเช่นกัน