posttoday

จ้างงานแบบ Fixed Term ในอินโดนีเซีย

03 สิงหาคม 2560

การจ้างงานในอินโดนีเซียมีความคล้ายๆ การจ้างงานในประเทศไทยคือ มีการจ้างงานทั้งที่เป็น Fixed Term Contract

โดย...ดิลก ถือกล้า

การจ้างงานในอินโดนีเซียมีความคล้ายๆ การจ้างงานในประเทศไทยคือ มีการจ้างงานทั้งที่เป็น Fixed Term Contract หรือการจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และการจ้างงานแบบเป็นพนักงานประจำ แต่การจ้างงานแบบ Fixed Term ในอินโดนีเซียนั้น มีข้อต้องพึงระวังที่อาจจะทำให้เกิดการเข้าใจที่ผิด มีการตีความที่ผิด จนนำไปสู่การตัดสินใจที่พลาดได้ หลักการของการจ้างงานแบบ Fixed Term คือ การทำสัญญาจะต้องไม่เกิน 2 ปี/ครั้ง แต่หลักสำคัญที่มักสร้างความสับสนคือ หลักการต่อสัญญา โดยที่อินโดนีเซียจะใช้หลักต่อได้ไม่เกิน 3 ครั้ง กับ หลักการของความต่อเนื่องของระยะเวลาสัญญาจะต้องไม่เกิน 5 ปี ขึ้นอยู่กับว่า ข้อไหนจะถึงก่อน

หลักการต่อสัญญา 3 ครั้งหมายความว่า เมื่อได้ทำสัญญาครั้งที่ 1 แล้วก็ต่อได้ทันทีครั้งที่ 2 แต่การต่อสัญญาครั้งที่ 3 จะต้องมีช่วงที่เรียกว่า Silence Period หรือช่วงพักสัญญา 30 วัน ก่อนต่อสัญญาฉบับใหม่ แต่ในทางปฏิบัติที่ได้เคยคุยกับที่ปรึกษากฎหมายแรงงานชาวอินโดนีเซีย เขาบอกว่า ไม่จำเป็นต้องถึง 30 วัน อาจเป็น 15 วันก็ใช้ได้แล้ว

อย่างไรก็ดี หลักการต่อสัญญาได้ 3 ครั้งจะถูกล็อกไว้ด้วยหลักระยะเวลาของสัญญาไม่เกิน 5 ปี คือ ระยะเวลาการทำสัญญาทุกช่วงรวมเบ็ดเสร็จแล้วไม่เกิน 5 ปี ดังนั้น ทางเลือกของนายจ้างในการทำสัญญาจ้างแบบ Fixed Term Contract เพื่อให้ได้จำนวนปีสูงสุด จึงอาจจะเป็นทั้ง 2+2+1 หรือ 1+2+2 หรือ 2+1+2 ถามว่า หลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร คำตอบก็คือ จะต้องจ้างงานแบบ Permanent คือ เป็นพนักงานประจำ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

จากการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับผู้บริหารคนไทยที่อินโดนีเซีย ประเด็นที่ผู้บริหารชาวไทยมักเข้าใจผิด คือ

หนึ่ง การต่อสัญญาเมื่อครับ 3 ครั้งแล้ว เข้าสู่ Silence Period แล้ว ก็สามารถเริ่มรอบใหม่ได้ ซึ่งข้อนี้ไม่ถูกต้อง นอกจากเสียแต่ว่าลูกจ้างจะยินยอม อย่างไรก็ตาม แม้ลูกจ้างจะยินยอม หากลูกจ้างนำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนเจ้าหน้าที่แรงงาน ก็มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่แรงงานจะตีความว่า การจ้างงานหลังต่อสัญญาครบ 3 รอบ จะเป็นสัญญาการจ้างงานแบบพนักงานประจำได้

สอง การต่อสัญญาแต่ละรอบ ใช้ชื่อตำแหน่งเดิมได้ แต่ในทางปฏิบัติ เราควรต้องปรับชื่อตำแหน่งไปทุกครั้ง แต่มีนักกฎหมายบางท่านแนะนำว่า ให้ใช้ชื่อกลางเอาไว้ ไม่ต้องระบุตำแหน่ง เช่น แทนที่จะบอกว่า Business Development Manager ก็อาจจะบอกว่า Manager อย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้ มีนักกฎหมายบางท่านโต้แย้งว่า มีความเสี่ยงเพราะอิงกับความเห็นการตีความของพนักงานมากเกินไป

นำมาแปะไว้ให้ท่านที่สนใจในการจ้างงานที่อินโดนีเซียกันครับ